17 ก.ย. 2555

[ข่าว] - ชู ป.บัณฑิตผลิตครูคณิตแยกประถม-มัธยม





UploadImage


ชี้ค่าเฉลี่ยนานาชาติสูงกว่าหลักสูตร 5 ปี “ช่วงโชติ” รุกคุรุสภาปรับปรุง


          ศ.เกียรติคุณ ดร.มนตรี จุฬาวัฒนทล ประธานกรรมการสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) เปิดเผยว่า สสวท.ได้เข้าร่วมวิจัยกับสมาคม IEA (International Association for the Evaluation of Educational Achievement) เพื่อประเมินความรู้ความสามารถด้านคณิตศาสตร์ของนักศึกษาปีสุดท้ายของหลักสูตรผลิตครู ตามโครงการ TEDS-M (Teacher Educational Development Study Mathematics) โดยมี 17 ประเทศเข้าร่วมวิจัย ได้แก่ บอตสวานา แคนาดา ชิลี จีน-ไทเป จอร์เจีย เยอรมนี มาเลเซีย นอร์เวย์ โอมาน ฟิลิปปินส์ โปแลนด์ รัสเซีย สิงคโปร์ สเปน สวิตเซอร์แลนด์ ไทย และสหรัฐอเมริกา โดย การวิจัยในไทยได้เก็บข้อมูลเมื่อปี พ.ศ. 2551 จากนักศึกษาวิชาเอกคณิตศาสตร์ของหลักสูตร 5 ปี และหลักสูตร ป.บัณฑิต 1,312 คน ใน 45 มหาวิทยาลัยที่ผลิตครูคณิตศาสตร์


          ศ.เกียรติคุณ ดร.มนตรีกล่าวว่า ผลการประเมินของไทยพบว่าในระดับประถมศึกษา นักศึกษาหลักสูตรผลิตครูมีคะแนนเฉลี่ยความรู้ในเนื้อหาและความรู้ ด้านการจัดการเรียนการสอนคณิตศาสตร์สูงกว่าค่าเฉลี่ยนานาชาติ ส่วนระดับมัธยมศึกษามีคะแนนเฉลี่ยทั้ง 2 ด้านต่ำกว่าค่าเฉลี่ย นานาชาติ ขณะที่หลักสูตร ป.บัณฑิตมีคะแนนเฉลี่ยทั้ง 2 ด้านสูงกว่านักศึกษา หลักสูตร 5 ปี ทั้งระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษา และพบว่าผลการเรียน ระดับมัธยมศึกษาของนักศึกษามีผลโดยตรงต่อคะแนนเฉลี่ยทั้ง 2 ด้าน จากผลประเมินชี้ว่า ควรใช้หลักสูตร ป. บัณฑิตผลิตครูคณิตศาสตร์โดยให้นักศึกษาเรียนหลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต (คณิตศาสตร์) 4 ปี และเรียนวิชาการสอน คณิตศาสตร์อีก 1 ปี และควรใช้หลักสูตรผลิตครูเพื่อสอนคณิตศาสตร์ที่แยกระดับ ประถมศึกษาและมัธยมศึกษาเพื่อเตรียมครูให้เชี่ยวชาญทั้งเนื้อหาและการจัดการเรียนการสอนของแต่ละระดับ รวมทั้งควรใช้ผลการเรียนมัธยมศึกษาเป็นส่วนหนึ่งในการคัดเลือกนักเรียนที่เรียนดีเข้าเรียนหลักสูตรผลิตครู


          ด้าน รศ.ดร.ช่วงโชติ พันธุเวช อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา กล่าวว่า ผลประเมินดังกล่าวเป็นเรื่องที่ทุกฝ่ายต้องเร่งแก้ไขจะปล่อยไว้ไม่ได้ และต้องร่วมกันหยิบยกเรื่องนี้ขึ้นมาถกกันในระดับชาติให้พูดกันทั้งประเทศ ซึ่งตนขอเสนอให้คุรุสภาและที่ประชุมอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏ พิจารณาพัฒนาหลักสูตรครู 5 ปี โดยแยกเอกประถมและเอกมัธยม เพื่อให้การเรียนเนื้อหาให้เข้มข้นและเรียน 5 ปีเหมือนเดิม หรือจัดหลักสูตรในลักษณะ 4+1 ซึ่งจะได้ผลมากกว่า.

ที่มา: http://www.thairath.co.th