17 ก.ค. 2555

[กิจกรรม] - “ตอบปัญหาวิชาการอุษาคเนย์ ครั้งที่ 5 ประจำปี 2555”


หลักการและเหตุผล

              การรวมตัวกันของประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ปรากฏขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมชัดเจนในช่วงต้นทศวรรษ 2500 หลังจากการถือกำเนิดรัฐชาติและการหวาดกลัวภัยคอมมิวนิสต์ความร่วมมือในภูมิภาคได้มีพัฒนาการอย่างต่อเนื่องจนเกิด ปฏิญญากรุงเทพฯเพื่อถือเป็นหมุดหมายแรกที่ประเทศในภูมิภาคตั้งเป้าจะร่วมมือกันอย่างเป็นทางการในวันที่ 8 สิงหาคม พ.ศ.2510 อันนำมาสู่การเป็นสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) ในปัจจุบันและยังถือให้วันที่ประเทศสมาชิกเริ่มต้น 5 ประเทศที่ลงนามในปฏิญญาดังกล่าว ให้เป็นวันอาเซียนซึ่งปัจจุบัน (พ.ศ.2555) ก็กำลังย่างเข้าสู่ปีที่ 45

              การก่อเกิดของคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ก็ได้ก่อเกิดขึ้นในช่วงทศวรรษ 2500 เช่นเดียวกัน โดยมีศาสตราจารย์อดุล วิเชียรเจริญ เป็นผู้ริเริ่มและก่อตั้งคณะศิลปะศาสตร์จนสามารถประกาศจัดตั้งได้ในพระราชกิจจานุเบกษาในปี พ.ศ.2504 และเริ่มเปิดการเรียนการสอนในปีพ.ศ.2505 เท่ากับว่าในปัจจุบันก็อยู่ในช่วง 50 ปี หรือกึ่งศตวรรษของคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

              จากวาระทั้งสองข้างต้น จึงเป็นที่มาของกิจกรรมตอบปัญหาวิชาการอุษาคเนย์ ครั้งที่ 5 ประจำปี 2555เพื่อช่วยสร้างฐานความเข้าใจเบื้องต้นเกี่ยวกับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และจุดประกายโอกาสของการพัฒนาการเรียนการสอนอย่างมีจินตนาการของการเรียนรู้ กิจกรรมดังกล่าวยังจะช่วยเปิดมุมคิดของการเรียนรู้ที่ขยายอาณาบริเวณไปได้กว้างและไกลกว่าเรื่องแค่ในชั้นเรียน รวมถึงการเปิดโลกทัศน์ใหม่และประสบการณ์ใหม่ๆ แก่ผู้ใฝ่เรียนรู้

                  กิจกรรมตอบปัญหาวิชาการในโอกาสนี้ หวังไว้ถึงการสร้างให้เกิดแรงจูงใจใฝ่เรียนรู้แก่เยาวชนให้ทวีความเข้มข้นและเข้มแข็งมากยิ่งขึ้น ด้วยว่าเยาวชนในวัยเรียนเหล่านี้คือพละกำลังอันสำคัญของสังคมในวันข้างหน้า ที่จะนำปัญญามาสร้างชาติให้วัฒนาถาวรยิ่งๆ ขึ้นไป


วัตถุประสงค์ของกิจกรรม

1.      เพื่อเฉลิมฉลองในวาระ “45 ปีอาเซียนและ “50 ปีศิลปศาสตร์

2.      เพื่อเป็นการตระหนักรู้ถึงการเป็นส่วนหนึ่งของประชาคมอาเซียน และเรียนรู้ถึงความหลากหลายทางวัฒนธรรมซึ่งถือได้ว่าเป็น อัตลักษณ์ที่สำคัญของความเป็นเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

3.      เพื่อส่งเสริมและเผยแพร่องค์ความรู้เกี่ยวกับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อย่างเท่าทันสถานการณ์ทั้งทางด้านการเมือง เศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรมของประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

4.      เพื่อสนับสนุนการเรียนการสอนของกลุ่มสาระการเรียนรู้วิชาสังคมศึกษาในระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย พร้อมกันนี้เพื่อการประชาสัมพันธ์หลักสูตรเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา


รูปแบบกิจกรรม

            กิจกรรมตอบปัญหาวิชาการ และการจัดนิทรรศการแนะนำหลักสูตร (รายละเอียดตามระเบียบขั้นตอนและกติกาการแข่งขัน ตามเอกสารแนบ)
 

วัน เวลา และสถานที่

            วันพฤหัสบดีที่ 16  สิงหาคม พ.ศ. 2555 เวลา 08.00 - 16.00 น.

            ห้อง ศศ. 203 - 204 โครงการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา คณะศิลปศาสตร์

            มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ท่าพระจันทร์)


ผู้เข้าร่วมกิจกรรม

            อาจารย์และนักเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย จากทั่วประเทศ


ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ  
                  
1. เป็นการเฉลิมฉลองในวาระ “45 ปีอาเซียนและ “50 ปีศิลปศาสตร์ในทางวิชาการอย่างสร้างสรรค์
2. เป็นการสร้างความตื่นตัวให้กับประชาสังคมในการเป็นส่วนหนึ่งของประชาคมอาเซียนและเพื่อเป็นจุดรับรู้ถึงความหลากหลายทางวัฒนธรรมในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
3. กิจกรรมได้สร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพื่อเป็นรากฐานองค์ความรู้แก่สังคม ทั้งนักเรียน อาจารย์ และนักศึกษา จากพื้นที่ของกิจกรรมการเรียนรู้ร่วมกัน
4. กิจกรรมได้ช่วยประชาสัมพันธ์หลักสูตรเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษาให้แก่นักเรียนได้เข้าใจแนวเนื้อหาและสาระสำคัญของการเรียนการสอนของหลักสูตรในวงกว้างมากยิ่งขึ้น                               

ติดต่อสอบถามที่

          โครงการเอเชียตะวันอกเฉียงใต้ศึกษา คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์                
          ถนนพระจันทร์ แขวงพระบรมมหาราชวัง เขตพระนคร กรุงเทพฯ 10200
          โทรศัพท์ 02-6132672 โทรศัพท์มือถือ 082-7780975 โทรสาร 02-6132599       
          Facebook: http://www.facebook.com/UsakaneQuiz