13 ก.ค. 2555

[ข่าว] - 5 เยาวชนคนเก่งชิงชัย ฟิสิกส์โอลิมปิกที่เอสโตเนีย


คอลัมน์ ไอคิวทะลุฟ้า
การแข่งขันฟิสิกส์โอลิมปิกระหว่างประเทศ ในปี 2555 จัดแข่งขันในวันที่ 15-24 ก.ค. ที่เมืองทาลินน์ ประเทศเอสโตเนีย
คณะผู้แทนประเทศไทย 5 คน ซึ่งจะออกเดินทางในวันศุกร์ที่ 13 ก.ค.นี้ประกอบด้วย คนแรก นายปภพ สวัสดี หรือ สต๊อก วัย 17 ปี ชั้น ม.6 โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา กล่าวว่า จะทำให้ได้เหรียญทอง การเตรียมตัว คือ ทำโจทย์ อ่านหนังสือหาความรู้เพิ่มเติม พักผ่อนให้เพียงพอ ฝึกสมาธิ ฝึกทักษะการใช้เครื่องมือปฏิบัติการ
"โครงการโอลิม ปิกวิชาการช่วยให้นักเรียนไทยสนใจเรียนรู้วิทยาศาสตร์เพิ่มขึ้น แต่ไม่ได้หมายความว่าการที่ประเทศไทยได้เหรียญรางวัลจำนวนมากจะทำให้วิทยาศาสตร์ในประเทศดีขึ้น กระบวนการในการคัดเลือกต่างหากที่เป็นตัวจุดประกายให้นักเรียนตั้งใจที่จะพัฒนาตนเองเพื่อเข้าโครงการ"
นายณัฐนันท์ ตันติวัสดาการ หรือ แนท วัย 18 ปี ชั้นม.6 โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย กล่าวว่า ภูมิใจที่จะได้มีโอกาสไปสร้างชื่อเสียงให้กับประเทศ จะทำให้ดีที่สุดในการแข่งขัน เพื่อตนเอง ครอบครัว โรงเรียนและประเทศชาติ
นายพุฒิพงศ์ วรศรัณย์ หรือ ตัง วัย 18 ปี ชั้นม.6 โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ เล่าว่า "ผมชอบเรียนฟิสิกส์และคณิตศาสตร์ เพราะเป็นวิชาที่เรียบง่ายและสวยงาม ใช้ความเข้าใจมาก ไม่ได้เน้นที่ท่องจำ อยู่ที่โรงเรียนจะคอยสอนเพื่อน และนัดรุ่นน้องมาสอนเป็นประจำ เพราะที่ผ่านมารุ่นพี่ก็ติวให้เรา จึงคิดว่ารุ่น น้องก็คงต้องการเราเหมือนที่เราต้องการรุ่นพี่มาสอน" 
"อนาคตจะรับ ทุนโอลิมปิกวิชาการ ไปศึกษาต่อต่างประเทศ อยากกลับมาเป็นอาจารย์และนักวิจัย จะมาสอน ถ่ายทอดความรู้ให้เยาวชนรุ่นใหม่ และอยากทำวิจัยเพื่อพัฒนาประเทศให้ ก้าวไกลกว่านี้"
นายพงศภัค สวัสดิรักษ์ หรือ แอมป์ วัย 18 ปี ชั้นม.6 โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา กล่าวว่า ก่อนไปแข่งขันได้ทบทวนความรู้ ผ่อนคลายความเครียด ไม่ว่าอย่างไรจะทำให้ดีที่สุด
นายศุภณัฐ ธนศิลป์ หรือ ไปป์ วัย 18 ปี ชั้นม.6 โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ กล่าวว่าเมื่อทราบว่าเป็นผู้แทนประเทศไทยรู้สึกดีใจ แต่ก็เครียดและกดดันด้วย เพราะถือว่าเราทำในฐานะหน้าตาของประเทศ แต่รู้สึกกดดันน้อยลงเพราะมีเพื่อนๆ และครอบครัวคอยให้กำลังใจ การเตรียมตัวคืออ่านหนังสือและฝึกทำโจทย์เยอะๆ พยายามทบทวนว่ามีเรื่องอะไรที่ยังไม่เข้าใจก็เสริมตรงจุดนั้น 
"นอกจากจะชอบเรียนฟิสิกส์แล้ว การเรียนศิลปะที่ตนเองชอบยังทำให้มีมุม มองเกี่ยวกับสิ่งต่างๆ ที่หลากหลายขึ้น อีกทั้งยังช่วยคลายเครียด อนาคตอยากพัฒนาวิทยาศาสตร์ของประเทศไทยให้ก้าวหน้ามากยิ่งขึ้น"
ที่มา นสพ.ข่าวสด