หนทางสู่ฝันของน้อง ๆ ปี 56 ได้เริ่มขึ้นแล้ว แอคชั่น!!!
ก่อนที่จะไปสู่ระบบแอดมิชชั่นจะต้องผ่านช่วงเวลาของ “เทศกาลสอบตรง” ไปก่อน มีน้อง ๆ หลายคนที่ตั้งใจจะเข้ามหาวิทยาลัยด้วยระบบสอบตรง ดังนั้นพี่แป้งจึงมี จุดสำคัญ 7 จุด สำหรับการสอบตรงมาฝากน้อง ๆ จะได้ไม่พลาดเหมือนที่เคยเกิดขึ้นในอดีต เตรียมกระดาษปากกาจดเลคเชอร์ตามได้เลยค่ะ
จุดที่ 1 คุณสมบัติ อ่านดี ๆ
การรับตรงของแต่ละคณะ/มหา’ลัยจะกำหนดคุณสมบัติของผู้สมัครต่างกันโดยมีประเด็นสำคัญ ๆ ดังนี้
- เกรด สำคัญยิ่งค่ะน้อง ๆ ต้องอ่านรายละเอียดดี ๆ บางคณะ/มหา’ลัยใช้เกรด 3 วิชารวมกัน บ้างก็ใช้เกรด 5 เทอม บ้างก็ใช้ 4 เทอม รวมถึงอาจจะมีข้อจำกัด GPAX ว่าต้องเท่าไหร่ 2.00 2.50 2.75 3.00 ไปจนถึง 3.50 ก็มีค่ะ สำหรับเรื่องเกรด ถ้าไม่ถูกต้องตามคุณสมบัติที่กำหนด น้อง ๆ ยังสามารถยื่นใบสมัครได้ แต่ว่าจะไม่ได้รับการพิจารณาและไม่สามารถเรียกร้องสิทธิ์ใด ๆ ได้เลย
- ระดับการศึกษา บางคณะ/มหา’ลัยก็ให้เด็กซิ่ว รวมถึงสายอาชีพหรือเทียบเท่าสอบได้ แต่บางมหา’ลัยให้เพียงแค่น้องม.6 เท่านั้น คอยระวังไว้ดี ๆ นะคะ เพราะว่านอกจากเขาจะไม่พิจารณาเราแล้ว เขาอาจจะตัดสิทธิ์การสอบโดยสิ้นเชิง ข้อหาจงใจทุจริตเรื่องคุณสมบัติของผู้สมัคร เคยมีมาแล้วด้วยนะเออ......อย่าประมาท
- คะแนนสอบที่ใช้ในการคัดเลือก ถ้ามหา’ลัยที่เข้าระบบ Clearing house จะกำหนดว่าสอบ 7 วิชาสามัญด้วยนะ วิชาอะไรบ้างจะระบุไว้ชัดเจน แต่บางมหา’ลัยต้องสอบมากกว่า 7 วิชาสามัญอีก เพราะฉะนั้นกำหนดการของแต่ละมหา’ลัยเริ่มออกมาแล้วน้อง ๆ ต้องตามข่าวเรื่อย ๆ นะคะ เช่น ทางคณะนั้นกำหนดว่าสอบทั้ง 7 วิชา แต่ว่าน้อง ๆ สอบแค่ 5 วิชา ก็เท่ากับว่าน้องจะถูกตัดสิทธิ์เนื่องจากเข้าสอบไม่ครบทุกรายวิชา แล้วโอกาสในการเข้ามหา’ลัยก็จากหายไป แว๊บบบ!!!!!!
- อื่น ๆ คือ คุณสมบัติอื่น ๆ ที่มหา’ลัยกำหนดเพิ่มเติม เช่น ต้องเป็นนักเรียนสายวิทย์-คณิตเท่านั้น หรือ ต้องเป็นผู้ที่ได้ลำดับ 1-10 ในระดับช่วงชั้นเท่านั้น และต้องมีใบรับรองด้วยนะ เพราะถ้าไม่มี เขาก็ไม่เชื่อ และแน่นอนถูกตัดสิทธิ์ไปโดยอัตโนมัติ
จุดที่ 2 สมัครทางไหนได้บ้างนะ?
การส่งใบสมัครสามารถทำได้หลายช่องทางค่ะ ทางคณะ/มหา’ลัยจะกำหนดไปเลยว่าได้แค่ทางไหนบ้าง หรือไม่ก็ได้ทุกทาง สมัครมาเหอะ! โดยส่วนใหญ่แล้ววิธีที่สามารถสมัครได้มีดังนี้
- สมัครทางอินเตอร์เน็ต ทางระบบจะให้กรอกข้อมูลลงในใบสมัครออนไลน์ได้เลย ข้อมูลของน้อง ๆ ก็จะอยู่ในระบบของทางคณะ/มหา’ลัยโดยอัตโนมัติ สิ่งที่พลาดสำหรับการสมัครสอบทางอินเตอร์เน็ตคือ เว็บล่ม ปัญหาระดับประเทศค่ะเรื่องนี้ แล้วเมื่อเว็บล่มสิ่งที่ตามมาคือสมัครไม่ได้ และก็ไม่ได้สมัครเสียโอกาสไป
และก็มีปัญหาอื่นด้วยนะเช่น กรอกรายละเอียดแล้วเมื่อกดยืนยันจะแก้ไขไม่ได้ กรอกข้อมูลไม่ครบ หรือแม้กระทั่งไม่อัพรูป เคยมีนะคะถูกตัดสิทธิ์ในการสอบเนื่องจากไม่อัพรูป เพราะทางผู้พิจารณาเขาถือว่าเราจงใจไม่แสดงตัว อาจนำไปสู่การทุจริตได้ !!!
- สมัครทางไปรษณีย์ น้อง ๆ จะต้องซื้อใบสมัครตามจุดหรือโหลดจากเว็บไซด์ที่ทางคณะกำหนด แล้วนำมากรอกข้อมูลให้ครบถ้วนและไปที่ที่ทำการไปรษณีย์ จ่าหน้าซองแล้วส่งโลด แต่ว่าดู ๆ แล้วก็ไม่น่าจะมีปัญหา แต่กรณีที่เคยเกิดขึ้นคือ
1) ส่งไปไม่ถึง อาจจะถึงมหา’ลัยนั้นแต่ไม่ถึงคณะที่จะสมัคร หรือ ไปรษณีย์หายระหว่างทาง ปัจจุบันนี้จึงมีการ Track เพื่อจะได้รู้ว่าของเราอยู่ไหนแล้ว
2) ส่งเอกสารไม่ครบ หรือแม้กระทั่งเอกสารไม่เซ็นสำเนาถูกต้องก็ไม่รับการพิจารณาใบสมัครเพราะว่าอาจเป็นคนอื่นมาสมัครก็ได้
3) เวลาในการส่ง นับวันที่แสตมป์ที่ไปรษณีย์หรือนับวันที่มาถึงที่รับสมัคร ถ้าพลาดขึ้นมาเขาจะไม่แม้แต่จะแกะซองออกมาอ่านชื่อผู้สมัครด้วยซ้ำ!!
- สมัครด้วยตนเอง น้อง ๆ ต้องเดินทางไปสมัครด้วยตนเองตามสถานที่ วัน และเวลาตามที่ทางคณะ/มหา’ลัยได้กำหนดไว้ค่ะ ทางนี้จะไม่ค่อยมีปัญหาเรื่องเอกสารมากเท่าไหร่ แต่จะมีปัญหา คือ จำวันและเวลาผิด !! กำหนดสมัครเช้ามาบ่าย ไม่มีใครรอหรอกนะคะ ก็เสียโอกาสไปเลย
จุดที่ 3 เอกสารที่ต้องการ
ในการสมัครระบบรับตรงบางครั้งทางคณะ/มหา’ลัยต้องการเอกสารเพิ่มเติมนอกจากใบสมัคร พี่แป้งแนะนำว่าลงทุนหาแฟ้มสักหนึ่งแฟ้ม เขียนตัวโต ๆ ว่าเอกสารสำคัญ แล้วเก็บเอกสารในแฟ้มให้เรียบร้อยค่ะ ไม่อย่างนั้นน้อง ๆ จะเจอปัญหาระดับชาติตามมาเลยว่าเอกสารฉันไปไหนเนี่ย?????
- ใบรับรอง (ดูข้อกำหนดด้วยว่าใครเป็นคนเซ็นต์รับรอง)
- ใบ ปพ. หรือใบแสดงผลการเรียน (Transcript)
- สำเนาบัตรประชาชน (แบบเซ็นต์สำเนาถูกต้องด้วยนะ)
- สำเนาทะเบียนบ้านตนเอง บิดามารดา (เพื่อตรวจสอบสัญชาติ)
- สำเนาการเปลี่ยนชื่อ การย้ายที่อยู่ (ไม่มีก็ไม่ต้องไปหามานะ)
- ใบโอนเงินค่าสมัคร (ใบที่เวลาเราไปจ่ายเงินหน้าธนาคารแล้วพี่เจ้าหน้าที่ให้คืนมา)
- สำเนาการสมัครสอบ (พิมพ์ได้จากเว็บที่สมัคร)
เน้นนิดนึงว่า บางคณะ/มหา’ลัยหากขาดเอกสารใดเอกสารหนึ่งไป
หมดสิทธิสอบเลยนะ ..... โอ๊ะ โหดร้าย
หมดสิทธิสอบเลยนะ ..... โอ๊ะ โหดร้าย
จุดที่ 4 การตรวจร่างกาย
ในการสอบตรงนั้นบางคณะ/มหา’ลัยต้องการใบรับรองแพทย์เพื่อประกอบการพิจารณาข้อมูลของผู้สมัคร โดยก็มีข้อแตกต่างกัน ตั้งแต่ขอแค่ใบรับรองแพทย์ธรรมดา ตรวจความดัน ตรวจเลือด ไม่เป็นโรคติดต่อ เป็นอันว่าใช้ได้ จนไปถึงกระทั่งให้เอ็กซเรย์แบบจัดเต็มแบบว่าปลอดภัยชัวร์กันไปเลย หรือว่าต้องตรวจตา ห้ามตาบอดสี ห้ามสายตาสั้นเท่านั้นเท่านี้ ห้ามพิการทางจิต และอื่น ๆ อีกมากมาย สิ่งที่น้อง ๆ ควรทำ คือ หาหลักฐานมายืนยันเท่าที่เขาได้ร้องขอมา เพราะหากไม่มีหลักฐานแล้วไซร้ เจ้าจักไม่มีสิทธิ์สอบนะ ชะเอิงเอยยยย...... กรณีที่เคยเจอต่อหน้าต่อตาเลยค่ะคือการที่ทางคณะ/มหา’ลัย ต้องการฟิล์มเอ็กซเรย์ปอด แล้วน้องไม่มีให้สุดท้ายก็ไม่ได้สัมภาษณ์ทั้ง ๆ ที่สอบข้อเขียนผ่านแล้ว!!เสียดายไหมละ?
อ้อ ...... แล้วอย่าลืมนะคะ บางทีในระเบียบการเรื่องการตรวจร่างกายจะระบุเลยว่าสามารถตรวจได้ที่โรงพยาบาลใดบ้าง หรือถ้าไม่ได้ระบุก็หมายความว่าสามารถตรวจที่ไหนก็ได้ แต่ถ้าระบุไว้ว่าให้ตรวจที่โรงพยาบาลของรัฐเท่านั้นก็อย่าเบลอไปตรวจโรงพยาบาลเอกชนนะคะเพราะว่าเขาจะหาว่าน้อง ๆ ไม่ทำตามที่ระบุไว้ หรือ ใบนี้ซื้อมาหรือเปล่า และแน่นอนถูกตัดสิทธิ์ เพราะฉะนั้นทางที่ดีตรวจที่โรงพยาบาลรัฐนั่นแหละค่ะ ปลอดภัยที่สุดแล้ว
จุดที่ 5 ค่าสมัครที่ต้องจ่าย
การจ่ายค่าสมัครนั้นส่วนใหญ่แล้วไม่สามารถโอนเงินผ่านตู้เอทีเอ็ม (ATM) ได้ แต่ทางคณะ/มหา’ลัยจะมีเอกสารที่ให้เราไปยื่นกับทางธนาคารแล้วธนาคารเก็บไว้หนึ่งส่วน เราเก็บอีกส่วน ขอย้ำว่าห้ามหาย!!! เด็ดขาด ที่บอกว่าห้ามหายเพราะว่าอาจจะได้ใช้ตอนสอบข้อเขียน หรือตอนสอบสัมภาษณ์ นั่นละถ้าหายปุ๊บซวยปั๊บ !! และอย่าลืมตรวจสอบธนาคารที่สามารถจ่ายเงินได้ด้วยนะค่ะ และเตรียมเงินไปเกินสำหรับค่าธรรมเนียมธนาคารด้วย ถ้าตังค์ไม่พออายแย่ >< พี่แป้งไม่อยากเห็นน้อง ๆ พลาดเพราะใบจ่ายเงินหาย เดี๋ยวประวัติศาสตร์จะซ้ำรอยบ่อยเกินไป....
อีกกรณีนึงคือเวลาในการจ่ายเงิน ต้องดูให้ถี่ถ้วนนะว่าต้องจ่ายภายใน 24 ชั่วโมง หรือ 3 วันนับตั้งแต่ตอนที่กดส่งใบสมัคร ถ้าเกินเวลาระบบจะตัดชื่อและตัดสิทธิ์ออกทันที และก็อยากบอกน้อง ๆ ว่าอย่าใจร้อนเรื่องเลขที่นั่งสอบไม่ขึ้นนะ เพราะบางทีการจ่ายเงินของน้อง ๆ อาจตรงกับวันเสาร์อาทิตย์ วันหยุดนักขัตฤกษ์ หรือเกินเวลาที่ทางระบบเปิดให้ทางธนาคารส่งข้อมูล ถ้าให้ชัวร์เลยให้นับเวลาทำการแล้วค่อยเช็คที่นั่งสอบอีกที ถ้าไม่ขึ้นซะทีก็โทรไปถามเลย แต่อย่าลืมบอกเขาไปด้วยนะว่ามีเอกสารการจ่ายเงินและจ่ายตรงตามเวลาที่กำหนดไว้
จุดที่ 6 มหาวิทยาลัยนั้นเป็นระบบ Clearing house หรือไม่?
น้อง ๆ ต้องเช็คด้วยนะคะว่าเป็น Clearing house หรือเปล่า แล้ววางแผนด้วยสำหรับน้อง ๆ ที่ต้องการจะสอบหลายที่ เพราะสุดท้ายแล้วจะมีวันที่กำหนดยืนยันสิทธิ์สำหรับระบบ Clearing house เพื่อเลือกเข้าเรียนเพียงที่เดียว และจะตัดสิทธิ์แอดมิชชั่นกลางด้วย ส่วนเก้าอี้ที่ว่างจะต้องเป็นของเพื่อน ๆ ในรอบแอดมิชชั่นนั่นเอง
นอกจากนี้ รับตรงบางโครงการ ถึงแม้จะไม่ได้เข้าร่วม Clearing house ก็จะระบุไว้ว่าเพียงแค่ชำระค่าธรรมเนียมการศึกษาก็หมายความว่าคุณยืนยันสิทธิ์เรียบร้อย “ถ้าคุณติด.....หมดสิทธิ์แอดฯ” นะจ๊ะคนดี
จุดที่ 7 การชำระค่าธรรมเนียม
น้อง ๆ อาจจะบอกว่า “โธ่พี่ผมยังไม่ติดสอบตรงเลย” พี่จะให้ผมคิดถึงค่าธรรมเนียมแล้วหรอ พี่แป้งก็จะตอบแบบเต็มเสียงว่า “ใช่ค่ะ” เพราะมันหมายถึงเงินในกระเป๋าของน้อง ๆ และครอบครัว สำหรับน้อง ๆ ที่สมัครสอบหลายที่ และสอบติดหลายที่ พี่แป้งแนะนำให้วางแผนก่อนเพราะว่าสุดท้ายแล้วการสอบตรงน้อง ๆ จะเลือกได้ที่เดียวเท่านั้น กรณีนึงที่เป็นที่ผิดพลาดสำหรับเด็กสอบตรงคือการที่สอบติดหลายที่และตั้งใจว่าจะชำระค่าธรรมเนียมการศึกษาไว้ทุกที่ แต่ที่พลาด คือวัน และเวลาการชำระค่าธรรมเนียมต่างกัน เช่น น้องเหมี่ยวสอบติด 4 ที่ วันและเวลาในการชำระค่าธรรมเนียมเป็นดังนี้
คณะฯที่ 1 ชำระวันที่ 18
คณะฯที่ 2 ชำระวันที่ 19
คณะฯที่ 3 ชำระวันที่ 20
คณะฯที่ 4 ชำระวันที่ 21
น้องเหมี่ยวอยากได้คณะฯที่ 2 มาก ๆ แต่ก็นะ หนูมีเงิน จ่ายคณะฯที่ 1 ไว้ด้วย ผลที่ตามมาคือ ในระเบียบการคณะฯที่ 1 บอกว่าถ้าชำระค่าธรรมเนียมแล้วหมายถึงยืนยันสิทธิ์ในการเข้าเรียนและสละสิทธิ์ที่อื่นทั้งหมด ...... ถึงแม้ว่าน้องเหมี่ยวจะชำระค่าธรรมที่คณะที่ 2,3 และ 4 ก็ตาม สุดท้ายก็ต้องเรียน คณะฯที่ 1 เสียใจไหมคะ??
เป็นไงบ้างคะสำหรับ 7 จุดสำคัญที่น้อง ๆ ต้องคอยระวังไว้ให้ดี รักษาสิทธิของน้อง ๆ อย่างเต็มที่ โอกาสมีน้อยลุยไปเลย เต็มที่ ! สุดท้ายนี้พี่แป้งขอให้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลายช่วยดลบันดาลให้น้อง ๆ ประสบความสำเร็จในการก้าวสู่รั้วมหาวิทยาลัยและคณะที่ชื่นชอบนะค่ะ แล้วพี่แป้งจะรอฟังข่าวดีค่ะ เอ๊า เฮ้!!!!!!!!
ใครคิดว่ามีจุดอื่นที่สงสัยหรือคิดว่าพลาดไม่ได้ อย่าลืมมาแชร์กันน้า
ขอบคุณสาระดีๆ จาก : Dek-D.com