ซิป้าเดินหน้าสร้างเจ้าสัวธุรกิจซอฟต์แวร์พันธุ์ใหม่ สานต่อนวัตกรรมวณิชย์ 55 ภาคค้นหา Thai IT Tycoon จับมือเอทีซีไอ และจุฬาฯ บ่มเพาะและเฟ้นหาผู้ประกอบตลาดซอฟต์แวร์ในมิติใหม่...
นายไตรรัตน์ ฉัตรแก้ว ผู้อำนวยการ สำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ ซิป้า กล่าวว่า ซิป้าจัดทำโครงการ ชื่อว่า นวัตกรรมวณิชย์ 2555 ภาคค้นหา Thai IT Tycoon เพื่อร่วมส่งเสริมและพัฒนาขีดความสามารถให้กับวงการธุรกิจด้านซอฟต์แวร์ของประเทศไทยให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น โดยในปีนี้มีการขยายแนวคิดการจัดกิจกรรมให้มีความเข้มข้น และสร้างความน่าสนใจให้กับผู้ร่วมกิจกรรมมากยิ่งขึ้น โดยได้ร่วมกับสมาคมอุตสาหกรรมเทคโนโลยีสารสนเทศไทย หรือเอทีซีไอ ในฐานะองค์กรที่มีสมาชิกในวงการธุรกิจอุตสาหกรรมซอฟแวร์และฮาร์ดแวร์ของประเทศไทยมากที่สุด เพื่อร่วมผลักดันให้สมาชิกมีการพัฒนาความรู้อย่างต่อเนื่อง และร่วมกับคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในฐานะสถาบันการศึกษาที่มีชื่อเสียงในด้านการพัฒนาหลักสูตรเชิงวิชาการ พร้อมทั้งเชิญวิทยากรที่มีชื่อเสียงในด้านบริหารธุรกิจและการตลาดระดับประเทศ เข้าร่วมให้ความรู้เชิงอบรมและบ่มเพาะกับภาคธุรกิจและผู้ประกอบการที่เข้าร่วมกิจกรรมอย่างต่อเนื่อง รวมถึงเปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมโครงการสามารถส่งประกวดแผนธุรกิจได้ด้วย สำหรับทีมที่เข้าเข้ารอบ 5 ทีม จะได้รับทุนและโอกาสทางธุรกิจพิเศษมากมาย เพื่อเป็นร่วมผลักดันให้ผู้ประกอบการที่ร่วมกิจกรรมประสบความสำเร็จทางธุรกิจได้เร็วยิ่งขึ้น
“ซิป้า เล็งเห็นความสำคัญของอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ เป็นตัวจักรช่วยในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและความสามารถในการแข่งขันของประเทศ สามารถสร้างรายได้ให้แก่ตนเอง และสามารถกว้าวสู่การเป็นเจ้าสัวทางธุรกิจซอฟแวร์รายใหม่ รวมถึงผลักดันอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ของประเทศให้เติบโตยิ่งขึ้นด้วย การประกวดในกิจกรรม Thai IT Tycoon 2012 Awards ทีมที่เข้าเข้ารอบ 5 ทีมสุดท้ายจะได้รับทุนและโอกาสพิเศษทางธุรกิจมากมาย อาทิ เงินทุนสำหรับใช้ตั้งต้นธุรกิจ การสนับสนุนการลงทุนด้านไอที การเข้าร่วมโครงการเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ธุรกิจทั้งในและต่างประเทศ และการร่วมเจรจาธุรกิจกับผู้ลงทุนต่างประเทศ เป็นต้น ซึ่งคิดเป็นมูลค่าที่ได้รับประมาณ 1 ล้านบาทต่อทีม” นายไตรรัตน์ กล่าว
นายอดิเรก ปฏิทัศน์ นายกสมาคมเอทีซีไอ กล่าวว่า เอทีซีไอมีสมาชิกที่อยู่ในวงการอุตสาหกรรมด้านไอซีที ที่มีสัดส่วนการตลาดมากกว่า 80% ของประเทศ ทำให้เล็งเห็นถึงความสำคัญในด้านการพัฒนาและยกระดับขีดความสามารถในด้านการบริหารจัดการและการตลาด ให้กับผู้ประกอบที่เป็นสมาชิกด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นการเตรียมตัวให้กับภาคธุรกิจต่างๆ ที่จะเข้าสู่การแข่งขันทางธุรกิจหลังจากที่ประเทศไทยเข้าสู่ช่วงเศรษฐกิจอาเซียน หรือ AEC ที่จะเกิดขึ้นในปี 2558 ด้วย
สำหรับโครงการ นวัตกรรมวณิชย์ 2555 ภาคค้นหา Thai IT Tycoon จะจัดกิจกรรมหลัก ได้แก่ประชาสัมพันธ์และเผยแพร่และประชาสัมพันธ์โครงการถึงกลุ่มเป้าหมายสำคัญ ได้แก่ นักศึกษาคณะวิศวกรรมศาสตร์ สาขาคอมพิวเตอร์ และ คณะบริหารธุรกิจ สาขาการตลาด และ การจัดการ หรือสาขาที่เกี่ยวข้อง บัณฑิตจบใหม่ด้านการบริหารและการตลาด และด้านวิศวกรรมศาสตร์ คอมพิวเตอร์ที่เพิ่งเริ่มทำงาน ผู้บริหารระดับกลางด้านการบริหารและการตลาดและด้านคอมพิวเตอร์ และผู้ประกอบการธุรกิจและอุตสาหกรรมทั่วไป เพื่อสมัครเข้าร่วมกิจกรรมต่างๆ ที่ต่อเนื่อง ตั้งแต่กิจกรรมเปิดบ้านนวัตกรรมวาณิชย์ ภาคค้นหา Thai IT Tycoon 2012 ที่จะจัดทั้งในกรุงเทพฯ เชียงใหม่และขอนแก่นกิจกรรมสร้างนักการตลาดซอฟต์แวร์ กิจกรรมบ่มเพาะสู่ผู้ประกอบการ Thai IT Tycoon 2012 หลังจากนั้นผู้สมัครเข้าร่วมกิจกรรม ที่ผ่านการบ่มเพาะครบตามหลักสูตรครบทั้งหมด และจดทะเบียนบริษัทเรียบร้อยแล้ว สามารถเข้าร่วมกิจกรรมการนำเสนอแผนธุรกิจกับผู้ลงทุนต่างๆ ได้ด้วย รวมถึงมีสิทธิ์ในการนำเสนอแผนธุรกิจจริง เพื่อร่วมประกวดในกิจกรรม Thai IT Tycoon 2012 Awards
นายพสุ เดชะรินทร์ คณบดีคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า มหาวิทยาลัยเข้าร่วมเป็นผู้ดำเนินการจัดทำจัดทำหลักสูตรการบ่มเพาะ และการจัดการอบรมในหัวข้อต่างๆ อย่างต่อเนื่อง โดยเชิญวิทยากรระดับประเทศมาเปิดโลกทัศน์ ความรู้ต่างๆ เกี่ยวกับ ทั้งด้านผลิตภัณฑ์ เช่น ซอฟต์แวร์ เทคโนโลยี หรือนวัตกรรม ควบคู่กับการให้การอบรมความรู้ด้านการวิเคราะห์ และการวางแผนการตลาด โดยเนื้อหาการอบรม จะได้รับความสนับสนุนทั้งจากผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ และนักการตลาดมืออาชีพรวมถึงเนื้อหาทางวิชาการจากคณาจารย์ผู้ทรงคุณวุฒิ อีกทั้งได้รับประกาศนียบัตรผ่านการอบรมหลักสูตรหลังจากสำเร็จจากโครงการนี้
“โครงการนี้จะเริ่มต้นด้วยการอบรมให้ความรู้ในด้านต่างๆ ตามหลักสูตรที่ ได้รับการพัฒนาเนื้อหา โดยเริ่มจากการให้ความรู้ด้านการบริหารธุรกิจ การให้ความรู้การวิเคราะห์การตลาด การวางแผนการตลาดแบบ IT-Based การให้ความรู้ IT-Based แบบเฉพาะกลุ่มของซอฟต์แวร์ การพัฒนาแผนธุรกิจซอฟต์แวร์ การบ่มเพาะโดยผู้ทรงคุณวุฒิระดับสูง การปรับแผน จนกระทั่งผู้เข้ารับการอบรมส่งประกวดแผนธุรกิจสำหรับผลิตภัณฑ์ซอฟต์แวร์ และตามด้วยกิจกรรมนำเสนอผลงานและส่งเสริมทุน ” นายพสุ กล่าว.
ขอขอบคุณข่าวสารดีๆจากทาง : ไทยรัฐออนไลน์