19 ส.ค. 2555

[คลังความรู้] - เทคนิคการเรียนให้ได้เกรด A 10 ประการ


 
จากเพื่อนๆหลายๆคนที่เคยถามผมว่าทำอย่างไรถึงให้เรียนเก่ง ผมจึงสรุปเป็นแนวทางขึ้นมาเพื่อเป็นทางเลือกให้เพื่อนๆลองทำตามดู อนึ่งแนวทางการเรียนที่ทำให้ประสบความสำเร็จนั้นมีหลายแนวทาง แนวทางนี้เป็นแนวทางหนึ่งเท่านั้นไม่ได้การันตีว่าจะสำเร็จเสมอไป เพราะแต่ละแนวทางมีความเหมาะสมกับลักษณะนิสัยของคนที่แตกต่างกันไป
เทคนิคที่ผมใช้มีสองเทคนิคหลักๆด้วยกันซึ่งควรจะใช้ควบคู่กันไปก็คือ เทคนิคการปฏิบัติ และเทคนิคการคิด แบ่งออกเป็นข้อย่อยๆรวมทั้งหมด 10 ข้อ
เทคนิคการปฏิบัติ
เทคนิคนี้เป็นเทคนิคการสร้างวินัยในตัวเองและสร้างความคุ้นเคยกับการอ่าน ถ้าเพื่อนๆอ่านหนังสือแล้วมีอาการง่วงหรือปวดหัวนั่นแสดงว่าสมองกำลังพยายามจัดลำดับความคิดให้เป็นโครงสร้างเครือข่ายความเข้าใจซึ่งเป็นเรื่องปกติอยู่แล้ว ให้พัก 10-15 นาทีแล้วมาอ่านใหม่ อาจจะเดินเล่นตรงระเบียงหรือฟังเพลงก็ได้ ถ้าอ่านไปแล้ว 1-2 ชม. แล้วปวดหัวมากให้นอนไปเลยครับ เมื่อคุ้นเคยกับการอ่านแล้วอาการเหล่านี้จะลดลง เนื่องสมองมีโครงข่ายแล้วมันแค่ต่อยอดโครงข่ายเดิมเท่านั้น
1.อ่านเนื้อหาที่อาจารย์จะสอนในวันถัดไป วิธีนี้เป็นการเตรียมตัวเพื่อให้เกิดความคุ้นเคยในเนื้อหาวิชา โดยหัวข้อเนื้อหาวิชาจะมีบอกล่วงหน้าในประมวลการสอนที่อาจารย์แจกให้ในการสอนวันแรก หลายๆคนอาจบอกว่าอ่านไม่รู้เรื่องเลย จริงๆแนวเทคนิคนี้ไม่ได้มีความมุ่งหวังที่จะทำให้เข้าใจแต่เพื่อความคุ้นเคยเท่านั้น อ่านไปเถอะครับไม่ว่าจะเข้าใจหรือไม่เข้าใจก็ตาม นอกจากนั้นยังทำให้เราตอบคำถามที่อาจารย์ถามในห้องได้อีกด้วยทำให้สนุกกับการเรียน
2.ทบทวนเนื้อหาและทำบ้านการบ้านที่อาจารย์สอนในวันนี้ ยิ่งเราทบทวนเนื้อหาเร็วเท่าใด จะทำให้เราจำและเข้าใจเนื้อหาได้มากขึ้นเท่านั้น หากปล่อยเวลาล่วงเลยไปมากเราก็จะลืม เทคนิคนี้มุ่งเน้นเพื่อการเข้าใจเนื้อหาโดยรวม ยังไม่ต้องจำรายละเอียดก็ได้ครับ
3.ทำงานส่งทุกๆงานที่อาจารย์สั่ง แน่นอนครับยิ่งเป็นวิชาที่คะแนนเก็บเยอะๆก็ยิ่งสำคัญ เป็นคะแนนที่ช่วยให้เข้าใกล้ A ได้มากขึ้น เพราะถ้าเรามีคะแนนเก็บมากๆ เราก็จะทำคะแนนให้ได้ A ง่ายขึ้น จะทำให้เวลาสอบไม่เครียดและกดดันตัวเองมากเกินไป
4.คบเพื่อนที่เรียนเก่ง เพื่อนที่ขยันทำงานหรือแฟนที่ชวนกันเรียน ถ้าเรามีเพื่อนที่เรียนเก่งเราสามารถถามปัญหาที่เราสงสัยหรือชวนกันคุยเกี่ยวกับเรื่องเรียนได้ ส่วนเพื่อนที่ขยันทำงานจะช่วยเตือนให้ทำงานส่งอยู่เสมอ เวลาทำงานกลุ่มก็ช่วยกันทำงาน งานที่ทำก็จะเสร็จเร็วและมีคุณภาพ
5.เวลาเรียนหากไม่เข้าใจให้ถามอาจารย์ในห้องได้เลย ไม่ต้องอายเพื่อนกลัวว่าตัวเองจะโชว์โง่ ให้คิดว่า “เราโง่ในวันนี้เราจะฉลาดในวันหน้าเพราะว่าเราขี้สงวัย” แต่ถ้ามีคำถามจำนวนมากก็แบ่งออกมาถามหลังเลิกคาบเรียนก็ได้ ถ้าถามบ่อยเกินไปอาจารย์จะไม่ได้สอนเนื้อหากันพอดีแถมเพื่อนๆจะรำคาญและเกลียดขี้หน้าเราด้วย
6.ในช่วงก่อนสอบ 1-2 สัปดาห์ให้อ่านเนื้อหาทั้งหมดอีกครั้งแล้วทำสรุป จะสรุปเป็นข้อๆหรือเป็นแผนผังความคิด(Mind Mapping)หรือจดเป็นสีๆก็ได้แล้วแต่ถนัด ห้ามอ่านทั้งคืนก่อนสอบเพราะจะเกิดผลเสียต่อร่างกายและสุขภาพของสมองในระยะยาว นำสรุปมาทบทวนและท่องจำได้ถึงสี่ทุ่มเท่านั้นหรือจะตื่นมาทบทวนตอนเช้าก็ได้ ก่อนสอบอย่ากินอาหารหนักมากเกินไป ควรเน้นอาหารที่เผาผลาญได้เร็วจำพวกคาร์โบไฮเดรตเช่น น้ำตาล น้ำหวาน ผลไม้
เทคนิคการคิด
เทคนิคนี้เป็นเทคนิคสำคัญที่ต้องทำควบคู่ไปกับเทคนิคแรก เราจะเห็นได้ว่าคนที่อ่านหนังสือเยอะๆก็ไม่ได้เรียนเก่งเสมอไป บางครั้งคนอ่านน้อยกว่าก็ทำข้อสอบได้ดีกว่า เพราะเขามีพื้นฐานมาดีหรือเทคนิคการคิดที่ดี หากเขาใช้เทคนิคแรกร่วมด้วยลองคิดดูว่าเขาจะเก่งแค่ไหน
7. เปิดใจ สนใจและเห็นความสำคัญของเนื้อหาที่จะเรียน การเปิดใจจะทำให้เรามีทัศนะคติทางบวกกับการเรียน จะเห็นได้ว่าคนที่ เกลียดวิชาเลขหรืออังกฤษจะไม่มีวันเข้าใจวิชานั้นๆได้เลย เพราะปิดกั้นตัวเองตั้งแต่แรก ให้ลองคิดว่าวิชานี้สำคัญอย่างไร สามารถเอาใช้ประโยชน์ได้อย่างไร ความสำคัญของวิชามักจะเขียนไว้ในบทที่ 1 ของหนังสือที่หลายๆคนมักมองข้ามไปนั่นแหละครับ ถ้าไม่มีก็ลองถามรุ่นพี่หรืออาจารย์ผู้สอนก็ได้ครับ แต่ว่าบางวิชาก็ไม่สามารถเอามาใช้ประโยชน์ได้ เพราะเป็นวิชาพื้นฐานสำหรับต่อยอดวิชาต่อๆไปเช่น วิชาคณิตศาสตร์เบื้องต้น
8.ตั้งข้อสงสัยและขบคิดหาคำตอบในเนื้อหาวิชาเป็นประจำเมื่อมีเวลาว่าง วิธีนี้นักคิดระดับโลกหลายๆคนใช้อย่าง อัลเบิร์ต ไอสไตน์ มักครุ่นคิดอยู่กับแนวคิดกาลอวกาศ เราจะเห็นได้ว่าคนเรียนเก่งบางคนมักจะพูดน้อย เหม่อลอย จริงๆแล้วเขากำลังคิดอะไรบางอย่างอยู่ครับ
หากเรามีเวลาว่างเช่น ทานข้าว นั่งรถเมล์ รถไฟฟ้า ซักผ้าล้างจาน อาบน้ำ ออกกำลังกาย ก็ลองตั้งข้อสงสัยและลองคิดหาคำตอบดู หรือลองใช้คำว่า “ถ้า” ดูครับเช่น ถ้าเป็นอย่างนี้แล้วจะเป็นอย่างนั้นหรือไม่ หรือลองกลับสมการปกติย้ายข้างไปมาและลองตีความหมายของสมการนั้นดู หรือลองคิดอะไรแปลกเลยก็ได้เพราะอย่างที่ไอน์สไตน์ว่า “จิตนาการสำคัญกว่าความรู้”
9.ลองเอาความรู้มาทดลองใช้ในชีวิตประจำวันหรือใช้ในสถานการณ์ต่างๆ วิธีนี้เป็นการฝึกฝนการใช้ความรู้อยู่เสมอ ทำให้เราเชี่ยวชาญถึงแม้จะยากในบางสถานการณ์ ก็ลองปรึกษากับเพื่อนๆ หรืออาจารย์ดูก็ได้
10.เรียนให้ได้มากกว่า A โดยการหาความรู้เพิ่มเติม เนื่องจากวิชาที่เราเรียนนี้มาการพัฒนาองค์ความรู้อยู่ตลอดเวลา เราจะเรียนด้วยตำราเพียงเล่มเดียวไม่ได้จะต้องหาตำราเล่มอื่นที่มีเนื้อหาที่คล้ายๆกันมาอ่านประกอบเพราะจะได้แนวคิดใหม่ๆเพิ่มเติมจากในห้องเรียน ยิ่งเป็นตำราต่างประเทศยิ่งดีได้ฝึกอ่านภาษาอังกฤษไปในตัว นอกจากนั้นตำราบางเล่มก็พิมพ์ผิดอาจทำให้เราเข้าใจผิดๆได้ ความรู้เพิ่มเติมนั้นสามารถหาได้ในห้องสมุด ในอินเตอร์เน็ตเยอะแยะมากมาย ควรอัพเดตความรู้ใหม่ๆอยู่เสมอๆ
สำหรับคนที่เก่งและมีความรู้แล้ว ผมแนะนำให้จับกลุ่มติวให้เพื่อนเพราะการติวจะทำให้เราทบทวนความรู้ไปในตัว และถ้าเราสามารถทำให้คนอื่นเข้าใจได้แสดงว่าเราเข้าใจเนื้อหา ณ จุดนั้นๆครบถ้วนแล้ว หากเราไม่สามารถอธิบายได้แสดงว่าไม่เข้าใจเนื้อหาอย่างลึกซึ้ง นอกจากนั้นการติวยังได้ความถามแปลกๆใหม่ๆจากเพื่อนๆอีกด้วย ทำให้เรามีความรู้มากขึ้น
เห็นมั๊ยล่ะครับว่าเทคนิคก็มีอยู่เพียง 10 ข้อเท่านั้นเอง ไม่ยาก แต่ถ้าเพื่อนๆคิดว่ามันลำบาก คิดว่าแค่เดินทางไปกลับมหาวิทยาลัยก็เหนื่อยก็เพลียแล้วอ่านหนังสือไม่ไหว หรือทำกิจกรรมไม่มีเวลาอ่านหนังสือ ให้เราคิดว่าเราลำบากวันนี้เราจะสบายในวันข้างหน้า ยิ่งในยุคปัจจุบันการแข่งขันสูงมากแล้วอีกไม่กี่ปีข้างหน้าจะเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนจะมีคนมาแย่งงานเราทำอีก เราต้องขยันและอดทนเพื่ออนาคตที่ดีของเราและเป็นที่ภาคภูมิใจของครอบครัว
อนึ่งต้องจำไว้ว่า การเรียนหนังสือเก่งไม่ได้ทำให้ประสบความสำเร็จในชีวิตเสมอไป การเรียนเป็นเพียงปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ประสบความสำเร็จเท่านั้น ดังนั้นเราไม่ควรจริงจังมากเกินไป จนเครียด ไม่หลับไม่นอนเสียสุขภาพ ต้องได้ A เท่านั้น ทำตัวแปลกออกจากเพื่อนๆไม่เข้าสังคม ไม่ทำกิจกรรมอย่างอื่นเลยอย่างนี้ตึงเกินไป หรือปล่อยปะละเลยมากเกินไป วันๆสนใจแต่เล่นเกม สังสรรค์กับเพื่อน เที่ยวห้าง ดูหนัง ติดละคร ติดซีรีย์ เล่นเชทเล่นโซเชียลมีเดีย ไม่อ่านหนังสือเลยอย่างนี้ก็หย่อนเกินไป ต้องเดินสายกลางให้เราคิดว่าการเรียนมหาวิทยาลัยเป็นการพัฒนาตัวเองเพื่อเตรียมพร้อมสู่การทำงาน