5 ส.ค. 2555

[ข่าว] - เปิด “เงินเดือน” นักข่าวภาคสนามส่วนใหญ่แค่หมื่นกว่าๆ –1ใน3ไม่มีโบนัส


 UploadImage


หลังจากมีการเปิดเผยผลประกอบการของบริษัท ไร่ส้ม จำกัด และบริษัท ชัดถ้อยชัดคำ จำกัด ของนายสรยุทธ สุทัศนะจินดา นักเล่าข่าวชื่อดัง ในรอบปี 2554 ซึ่งปรากฏว่า ทั้ง 2 บริษัทมีรายได้รวม 525,113,010.63 บาท เป็นกำไรสุทธิถึง 184,139,122.83 บาท 
                (คลิกเพื่ออ่านรายละเอียดเพิ่มเติม “สรยุทธ”โชว์ค่าตัวปีล่าสุด “ไร่ส้ม”โกยอื้อ 525 ล้าน)
                ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา พยายามตรวจสอบรายได้ของผู้สื่อข่าวภาคสนาม เพื่อเปรียบเทียบกับรายได้นักเล่าข่าวขื่อดัง ว่ามีความแตกต่างมากน้อยขนาดไหน ก่อนพบว่าในจุลสาร “ราชดำเนิน” ฉบับที่ 23 ประจำเดือน มิ.ย.2555 เคยทำการสำรวจรายได้ของผู้สื่อข่าวภาคสนามในเบื้องต้น โดยปรากฎอยู่ในบทความชื่อ “ค่าครองชีพกระจอกข่าว เรื่องจริงผ่านโพลล์” โดย น.ส.ขนิษฐา เทพจร และนายพรพัฒน์ ชุนชฎาธาร ใช้วิธีเก็บข้อมูลจากผู้สื่อข่าวภาคสนามด้วยวิธีการให้ตอบแบบสอบถาม โดยสุ่มเลือกกลุ่มตัวอย่างจากผู้สื่อข่าวภาคสนาม สายการเมือง (ทำเนียบรัฐบาล, รัฐสภา และพรรคการเมือง) รวม 70 รวม ทำการเก็บข้อมูลในช่วงกลางเดือน มี.ค.ถึงต้นเดือน เม.ย.ที่ผ่านมา ปรากฏข้อมูลที่น่าสนใจดังนี้
                ข้อมูลทั่วไปของผู้สื่อข่าวภาคสนาม สายการเมือง (ทำเนียบ, รัฐสภา และพรรคการเมือง) กลุ่มตัวอย่างที่สำรวจมีเพศชายและเพศหญิงเท่ากัน (50%) ส่วนใหญ่มีอายุระหว่าง 25-29 ปี (34.3%) รองลงมาคือ 30-34 ปี (22.9%) เกือบ 4 ใน 5 ยังมีสถานภาพโสด (81.4%) ส่วนที่สมรสไปแล้วมีเพียงครึ่งหนึ่งเท่านั้นที่มีบุตร
                เมื่อถามถึงรายได้ กลุ่มตัวอย่างทุกคนจะตอบว่าหลักๆ จะอยู่ที่เงินเดือน โดยอันดับหนึ่งระบุว่า อยู่ระหว่าง 10,000-15,000 บาท (28.6%) รองลงมาคือระหว่าง 15,001-20,000 บาท (27.1%) และระหว่าง 20,000-30,000 บาท (20%) และมีบางส่วนระบุว่า มีเงินเดือนระหว่าง 5,000-10,000 บาท (14.3%) เท่านั้น นอกจากนี้ 35.7% ยังระบุว่า ไม่ได้รับโบนัสจากต้นสังกัดไม่ว่าจะจ่ายกลางปีหรือปลายปี
                เมื่อถามถึงรายจ่าย กลุ่มตัวอย่างระบุว่า หลักๆ จะเสียไปกับค่าเช่าที่พักอาศัย (เฉลี่ยต่อเดือน 5,001 บาทขึ้นไป), ค่าใช้จ่ายในการเดินทาง (มียานพาหนะของตนเอง 4,001 บาทขึ้นไป ใช้บริการระบบโดยสารสาธารณะ 2,001 บาทขึ้นไป, ค่าโทรศัพท์ (4,001 บาทขึ้นไป), ค่ากิจกรรมสันทนาการ (501 บาทขึ้นไป) ฯลฯ ตามลำดับ
                 ทั้งนี้ อาจเพราะเห็นรายได้ที่ไม่สัมพันธ์กับรายจ่าย ทำให้ช่วงท้ายของบทความดังกล่าว ผู้เขียนได้เขียนทิ้งท้ายไว้สั้นๆ ว่า "(อาชีพผู้สื่อข่าวภาคสนาม)ใครที่ทนได้ก็ทน แต่ใครที่ทนไม่ได้ก็ต้องบ๊าย-บาย ย้ายอาชีพ.."

ที่มา - สำนักข่าวอิศรา