เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม
ขอขอบคุณภาพประกอบจาก slashgear.com
เมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม องค์การบริหารการบิน และอวกาศแห่งชาติสหรัฐอเมริกา หรือนาซา (NASA) เปิดเผยว่า ยานคูริโอซิตี้ ซึ่งเป็นยานสำรวจดาวอังคารไร้คนขับรุ่นล่าสุดของนาซา มูลค่า 2,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 75,000 ล้านบาท) ปรับวิถีนำร่องเพื่อเข้าสู่ช่วงสุดท้ายของการเดินทางสู่ดาวอังคารแล้ว หลังใช้เวลากว่า 1 ปีครึ่งเดินทางจากโลก โดยจะมีการถ่ายทอดบนจอยักษ์ในบริเวณจัตุรัสไทม์สแควร์ ของนครนิวยอร์กในวันที่ 6 สิงหาคมนี้ เวลา 01.31 น.ตามเวลาท้องถิ่น (หรือประมาณ 12.31 น. ตามเวลาในไทย ของวันอังคารที่ 7 สิงหาคม)
รายงานระบุว่า ยานคูริโอซิตี้ จะส่งยานลูกขนาดเท่ารถยนต์ลงสำรวจพื้นผิวดาวอังคารในภารกิจที่กินเวลา 2 ปี เพื่อวิเคราะห์ลักษณะภูมิประเทศ และหาสิ่งมีชีวิตบนดาวอังคาร อย่างไรก็ตาม ผู้ชมจอยักษ์ที่จัตุรัสไทม์สแควร์ จะไม่สามารถได้เห็นคลิปวิดีโอการลงจอดในช่วงเวลาจริง แต่ภาพสด ๆ เหล่านี้จะถูกส่งไปยังห้องควบคุมของหอปฏิบัติการเจ็ท โพรพัลชั่น ของนาซา ในรัฐแคลิฟอร์เนีย หลังจากนั้น ภาพการลงจอดจะถูกนำไปถ่ายทอดบนจอยักษ์โตชิบา
โดย นายจอห์น กรันส์เฟลด์ เจ้าหน้าที่ของนาซา บอกว่า ในเมืองที่ไม่เคยหลับอย่างนครนิวยอร์ก จัตุรัสไทม์สแควร์ จะทำให้ชาวนิวยอร์กได้ร่วมเป็นสักขีพยานในการลงจอดครั้งประวัติศาสตร์บนดาวอังคารของยานคูริโอซิตี้
อย่างไรก็ตาม ทีมนักวิทยาศาสตร์ของนาซากังวลเช่นกันว่า ยานคูริโอซิตี้จะลงจอดและปฏิบัติการได้อย่างเรียบร้อยหรือไม่ เนื่องจากยานลำนี้มีขนาดใหญ่มากกว่ายานลำอื่น ๆ ที่นาซาเคยส่งไปสำรวจดาวอังคารประมาณ 4-5 เท่า ประกอบกับชั้นบรรยากาศของดาวอังคารที่เบาบางกว่าโลกถึง 100 เท่า จึงยากที่จะบังคับให้ยานลดความเร็วเพื่อลงจอดอย่างปลอดภัยได้
โดยที่ผ่านมา ยานสำรวจดาวอังคารอาศัยร่มชูชีพเป็นเครื่องช่วยต้านความเร็วขณะลงจอดเป็นหลัก แต่สำหรับยานคูริโอซิตี้ ซึ่งมีขนาดใหญ่ ทีมวิศวกรออกแบบให้มี "สกายเครน" หรือยานอีกลำหนึ่งประกบด้านบน ซึ่งสกายเครนจะยิงจรวดเพื่อต้านแรงโน้มถ่วง ให้ยานคูริโอซิตี้ลงจอดด้วยความเร็วเพียง 2-3 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เมื่อถึงพื้นผิวดาวอังคาร สกายเครนจะตัดสายเคเบิลออกจากยานคูริโอซิตี้ และจะบินออกไปตกที่อื่น จากนั้นยานคูริโอซิตี้จะเริ่มการสำรวจดาวอังคารเพื่อหาร่องรอยสิ่งมีชีวิตและเก็บข้อมูลต่าง ๆ เกี่ยวกับดาวอังคาร
ทั้งนี้ เนื่องจากดาวอังคารอยู่ห่างจากโลกมาก สัญญาณจากยานคูริโอซิตี้จะใช้เวลา 7 นาทีกว่าจะมาถึงฐานควบคุมของนาซาบนโลก ดังนั้น นาซาจะไม่ทราบว่ายานลำนี้ลงจอดสำเร็จหรือล้มเหลวจนกระทั่งพ้น 7 นาทีนี้ไปแล้วนั่นเอง
อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก