หลังจากเรื่องการหักภาษี ณ ที่จ่าย ของดารานักแสดงชื่อดัง ได้กลายเป็นประเด็นที่สังคมนำมาถกเถียงกัน เนื่องจากหลายฝ่ายมองว่าอาจมีการหมกเม็ด หรือมีความพยายามในการเลี่ยงภาษีโดยทางมิชอบ ซึ่งเรื่องที่กำลังเป็นปัญหาใหญ่อยู่ในตอนนี้ คือ การหักภาษี ณ ที่จ่าย ที่หลายคนยังสับสนว่า การหักภาษี ณ ที่จ่าย คืออะไรนั้น วันนี้กระปุกดอทคอม ได้รวบรวมข้อมูลมาฝากกันจ้า
ก่อนจะไปดูเรื่องการหักภาษี ณ ที่จ่าย เราควรทำความเข้าใจเรื่อง คำศัพท์สำคัญที่เกี่ยวข้องในเรื่องนี้ ซึ่งได้แก่
1. ผู้จ่ายเงินได้ : คือผู้ที่มีหน้าที่ หักภาษี ณ ที่จ่าย ให้แก่กรมสรรพากร
2. ผู้มีรายได้ : ผู้ที่ประกอบอาชีพ และมีรายได้จากการทำงาน
ผู้จ่ายเงินได้ ประกอบด้วย บุคคล, ห้างหุ้นส่วน, บริษัท, สมาคม และคณะบุคคล ซึ่งเงินที่หักภาษี ณ ที่จ่ายนี้ ก็คือเงินของผู้มีรายได้ ที่ได้มาจากการทำงาน และนอกจากผู้จ่ายเงินได้ จะหักภาษี ณ ที่จ่ายแล้ว ทุก ๆ กลางปี สิ้นปี หรือครบรอบบัญชี หากผู้มีรายได้คำนวนแล้วว่า ภาษีสุทธิของตน น้อยกว่าภาษีหัก ณ ที่จ่าย ที่ถูกผู้จ่ายเงินได้หักไปแล้ว ท่านก็ไม่ต้องเสียเงินชำระภาษีต่อกรมสรรพกรอีก
ในขณะเดียวกัน ถ้าผู้มีรายได้ มีภาษีหัก ณ ที่จ่าย มากกว่าภาษีที่ต้องชำระ ผู้มีรายได้สามารถทำเรื่องขอคืนภาษีได้ แต่ต้องยื่นแบบขอคืนภาษีให้ถูกต้อง ยกเว้นว่า หากผู้มีรายได้ไม่ประสงค์จะขอคืนภาษี เงินเหล่านั้นก็จะกลายเป็นเงินของประเทศไป ดังนั้น เมื่อผู้มีรายได้ถูกผู้จ่ายเงินได้ หักภาษี ณ ที่จ่ายไปแล้ว ผู้มีรายได้ควรเก็บใบหัก ณ ที่จ่ายไว้ และควรตรวจสอบข้อมูล ที่ถูกระบุในใบหักภาษี ณ ที่จ่าย ว่าถูกต้องครบถ้วนหรือไม่ หากมีส่วนใดผิดพลาด ก็ควรรีบกลับไปให้ผู้จ่ายเงินได้ออกใบหักภาษี ณ ที่จ่ายให้ใหม่ทันที
สำหรับผู้มีรายได้ ประเภทบุคคลธรรมดา ที่ยังไม่แน่ใจว่า แหล่งเงินได้แบบใดที่จะเข้าข่ายต้องถูกหักภาษี หรือจะต้องเสียภาษี ขอให้ยึดหลักแหล่งที่มาของเงินได้ ที่ต้องนำไปคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ดังนี้
1. เงินได้เกิดจากแหล่งในประเทศ หมายถึง เงินได้ที่เกิดขึ้น หรือเป็นผลสืบเนื่องจากมี
1.1 หน้าที่งานที่ทำในประเทศไทย หรือ
1.2 กิจการที่ทำในประเทศไทย หรือ
1.3 กิจการของนายจ้างในประเทศไทย หรือ
1.4 ทรัพย์สินที่อยู่ในประเทศไทย (ดอกเบี้ย เงินปันผล ค่าเช่า ฯลฯ
* เงื่อนไข ผู้มีเงินได้เกิดจากแหล่งในประเทศนี้มีหน้าที่ต้องเสียภาษีเงินได้ตามที่กฎหมายกำหนดไว้ เว้นแต่จะมีข้อยกเว้นตามกฎหมาย ทั้งนี้ ไม่ว่าเงินได้พึงประเมินในปีภาษีที่ล่วงมาแล้วนั้น จะจ่ายในหรือนอกประเทศ และไม่ว่าผู้มีเงินได้นั้นจะเป็นผู้อยู่ในประเทศไทยหรือไม่ก็ตาม
2. เงินได้เกิดจากแหล่งนอกประเทศไทย หมายถึง เงินได้ที่เกิดขึ้นหรือเป็นผลสืบเนื่องจากมี
2.1 หน้าที่งานที่ทำในต่างประเทศ หรือ
2.2 กิจการที่ทำในต่างประเทศ หรือ
2.3 ทรัพย์สินที่อยู่ในต่างประเทศ
* เงื่อนไข ผู้มีเงินได้เกิดจากแหล่งนอกประเทศในปีภาษีที่ล่วงมาแล้วจะต้องเสียภาษีเงินได้ ในประเทศไทยก็ต่อเมื่อเข้าองค์ประกอบทั้ง 2 ประการ ดังต่อไปนี้
(1) ผู้มีเงินได้เป็น ผู้อยู่ในประเทศไทย ในปีภาษีนั้นชั่วระยะเวลาหนึ่งหรือหลายระยะเวลา รวมทั้งหมดถึง 180 วัน และ
(2) ผู้มีเงินได้ นำเงินได้นั้นเข้ามาในประเทศไทยในปีภาษีนั้นด้วย
* เงื่อนไข ในการเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาบางกรณี ถ้าเกี่ยวข้องกับบุคคลของบางประเทศที่มี อนุสัญญาภาษีซ้อน* หรือความตกลงเพื่อป้องกันการเก็บภาษีซ้ำซ้อนกับประเทศไทยจำเป็นต้องพิจารณาถึงความ ตกลงหรืออนุสัญญาว่าด้วยการเว้นการเก็บภาษีซ้อนระหว่างประเทศไทยได้ทำความตกลงไว้ด้วย
ทั้งนี้ สามารถสรุปคร่าว ๆ ได้ว่า การหักภาษี ณ ที่จ่าย จะเกิดขึ้นเมื่อผู้จ่ายเงินได้มอบหมายงานให้ผู้มีรายได้ และเมื่องานดังกล่าวสิ้นสุดลง ผู้จ่ายเงินได้ จะทำการหักภาษี ณ ที่จ่าย ทันที ก่อนที่ผู้มีรายได้จะได้รับค่าตอบแทนดังกล่าว แต่ถ้าผู้มีรายได้ประกอบธุรกิจของตนเอง ผู้มีรายได้จะต้องเสียภาษี และอาจมีฐานะเป็นผู้จ่ายเงินได้ด้วย
สำหรับ ผู้จ่ายเงินได้ ต้องมีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่าย อย่างไรบ้างนั้น มีรายละเอียดดังนี้ ต่อไปนี้
1. มาตรา 50 ให้บุคคล ห้างหุ้นส่วน บริษัท สมาคม หรือคณะบุคคลผู้จ่ายเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 หักภาษีเงินได้ไว้ทุกคราวที่จ่ายเงินได้พึงประเมินตามวิธีดังต่อไปนี้
(1) ในกรณีเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (1) และ (2) ให้คูณเงินได้พึงประเมินที่จ่ายด้วยจำนวนคราวที่จะต้องจ่าย เพื่อให้ได้จำนวนเงินเสมือนหนึ่งว่าได้จ่ายทั้งปี แล้วคำนวณภาษีตามเกณฑ์ในมาตรา 48 เป็นเงินภาษีทั้งสิ้นเท่าใดให้หารด้วยจำนวนคราวที่จะต้องจ่าย ได้ผลลัพธ์เป็นเงินเท่าใดให้หักเป็นเงินภาษีไว้เท่านั้น
ถ้าการหารด้วยจำนวนคราวที่จะต้องจ่ายตามความในวรรคก่อนไม่ลงตัว เหลือเศษเท่าใดให้เพิ่มเงินเท่าจำนวนที่เหลือเศษนั้นรวมเข้ากับเงินภาษีที่ จะต้องหักไว้ครั้งสุดท้ายในปีนั้น เพื่อให้ยอดเงินภาษีที่หักรวมทั้งปีเท่าจำนวนภาษีที่จะต้องเสียทั้งปี
ในกรณีเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(1) และ (2) ซึ่งเป็นเงินที่นายจ้างจ่ายให้ครั้งเดียวเพราะเหตุออกจากงาน ซึ่งได้คำนวณจ่ายจากระยะเวลาที่ทำงาน และได้จ่ายตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีกำหนด ให้คำนวณภาษีตามเกณฑ์ในมาตรา 48(5) เป็นเงินภาษีทั้งสิ้นเท่าใดให้หักเป็นเงินภาษีไว้เท่านั้น
ในกรณีเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(2) นอกจากที่ระบุไว้ในวรรคสาม ที่จ่ายให้แก่ผู้รับซึ่งมิได้เป็นผู้อยู่ในประเทศไทย ให้คำนวณหักในอันตราร้อยละ 15.0 ของเงินได้
(2) ในกรณีเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(3) และ (4) ให้คำนวณหักตามอัตราภาษีเงินได้ เว้นแต่
(ก) ในกรณีเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(3) และ (4) นอกจากที่ระบุไว้ใน (ข)(ค)(ง) และ (จ) ที่จ่ายให้แก่ผู้รับซึ่งมิได้เป็นผู้อยู่ในประเทศไทย ให้คำนวณหักในอัตราร้อยละ 15.0 ของเงินได้
(ข) ในกรณีเงินได้พึงประเมินที่ระบุในมาตรา 48(3) (ก) และ(ค) ให้คำนวณหักในอัตราร้อยละ 15.0 ของเงินได้
(ค) ในกรณีเงินได้พึงประเมินที่ระบุในมาตรา 48(3) (ข) ให้ถือว่าผู้ออกตั๋วเงิน ผู้ออกตราสารแสดงสิทธิในหนี้ หรือนิติบุคคลผู้โอนตั๋วเงินหรือตราสารดังกล่าว ให้แก่ผู้มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้ตามส่วนนี้เป็นผู้จ่ายเงินได้พึงประเมิน และให้เรียกเก็บภาษีเงินได้จากผู้มีเงินได้ ในอัตราร้อยละ 15.0 ของเงินได้ และให้ถือว่าภาษีที่เรียกเก็บนั้นเป็นภาษีที่หักไว้
(ง) ในกรณีเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(4) (ก) ที่มิได้ระบุใน (ข) และ (ค) แห่งมาตรานี้ ถ้าผู้จ่ายเงินได้มิใช่เป็นนิติบุคคล และจ่ายให้แก่ผู้รับซึ่งเป็นผู้อยู่ในประเทศไทย ไม่ต้องหักภาษีตามมาตรานี้
(จ) ในกรณีเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(4) (ข) ให้คำนวณหักในอัตราร้อยละ 10.0 ของเงินได้
(3) ในกรณีเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(5) และ (6) ที่จ่ายให้แก่ผู้รับซึ่งมิได้เป็นผู้อยู่ในประเทศไทย ให้คำนวณหักในอัตราร้อยละ 15.0 ของเงินได้
(4) นอกจากกรณีตาม (5) ในกรณีผู้จ่ายเงินตามมาตรานี้เป็นรัฐบาล องค์การของรัฐบาล เทศบาล สุขาภิบาล หรือองค์การบริหารราชการส่วนท้องถิ่นอื่น ซึ่งจ่ายเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(5)(6) (7) หรือ (8) แต่ไม่รวมถึงการจ่ายค่าซื้อพืชผลทางการเกษตรให้กับผู้รับรายหนึ่ง ๆ มีจำนวนรวมทั้งสิ้นตั้งแต่ 10,000 บาทขึ้นไป แม้การจ่ายนั้นจะได้แบ่งจ่ายครั้งหนึ่งๆ ไม่ถึง 10,000 บาทก็ดี ให้คำนวณหักในอัตราร้อยละ 1 ของยอดเงินได้พึงประเมิน แต่เฉพาะเงินได้ในการประกวดหรือแข่งขัน ให้คำนวณหักตามอัตราภาษีเงินได้
(5) ในกรณีเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(8) เฉพาะที่จ่ายให้แก่ผู้รับซึ่งขายอสังหาริมทรัพย์ ให้คำนวณหักดังต่อไปนี้
(ก) สำหรับอสังหาริมทรัพย์อันเป็นมรดกหรืออสังหาริมทรัพย์ที่ได้รับจากการให้โดย เสน่หา ให้คำนวณภาษีตามเกณฑ์ในมาตรา 48(4) (ก) เป็นเงินภาษีทั้งสิ้นเท่าใด ให้หักเป็นเงินภาษีไว้เท่านั้น
(ข) สำหรับอสังหาริมทรัพย์ที่ได้มาโดยทางอื่นนอกจาก (ก) ให้หักค่าใช้จ่ายเป็นการเหมาตามที่กำหนดโดยพระราชกฤษฎีกา แล้วคำนวณภาษีตามเกณฑ์ในมาตรา 48(4) (ข) เป็นเงินภาษีทั้งสิ้นเท่าใด ให้หักเป็นเงินภาษีไว้เท่านั้น
(6) ในกรณีการโอนกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองในอสังหาริมทรัพย์โดยไม่มีค่าตอบ แทน ให้ผู้โอนหักภาษีตามเกณฑ์ใน (5) โดยถือว่าผู้โอนเป็นผู้จ่ายเงินได้
2. มาตรา 50 ทวิ กำหนดว่า ให้ผู้มีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่าย (ผู้จ่ายเงินได้) ออกหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่ายที่ได้หักไว้แล้วในปีภาษีให้แก่ผู้ถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายสองฉบับ มีข้อความตรงกันในกรณีและตามกำหนดเวลาดังต่อไปนี้
(1) ในกรณีตามมาตรา 3 เตรส ให้ออกในทันทีทุกครั้งที่มีการหักภาษี ณ ที่จ่าย
(2) ในกรณีตามมาตรา 50(1) ให้ออกภายในวันที่ 15 กุมภาพันธ์ ของปีถัดจากปีภาษี หรือภายในหนึ่งเดือนนับแต่วันที่ผู้ถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายออกจากงานในระหว่างปีภาษี
(3) ในกรณีตามมาตรา 50(2) (3) หรือ (4) ให้ออกในทันทีทุกครั้งที่มีการหักภาษี ณ ที่จ่าย
จากรายละเอียดข้างต้นจะพบว่า เกณฑ์ในการหักภาษี ณ ที่จ่ายนั้น มีรายละเอียดค่อนข้างมาก ซึ่งแท้จริงแล้วการหักภาษี ณ ที่จ่าย ก็ถือเป็นการเสียภาษีอย่างหนึ่ง และหากมีการเสียภาษีผิดพลาด ทางกรมสรรพากรก็จะทำการตรวจสอบ และประเมินใหม่อีกครั้ง แต่ในขั้นตอนนี้อาจต้องมีการเสียค่าปรับ หรือเงินเพิ่มอื่น ๆ จึงทำให้หลายคนเพิกเฉยต่อเรื่องการเสียภาษี เนื่องจากมีความซับซ้อน และต้องใช้เวลาในการศึกษารายละเอียดอยู่บ้าง
อย่างไรก็ตาม หากมีข้อสงสัยเกี่ยวกับเรื่องการเสียภาษีต่าง ๆ ไม่ว่าจะในฐานะผู้จ่ายเงินได้ ที่เป็นผู้ประกอบ หรือผู้มีรายได้ ที่เป็นลูกจ้าง สามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ เว็บไซต์กรมสรรพากรหรือติดต่อ สรรพากร Call Center หมายเลขโทรศัพท์ 1161
ขอขอบคุณข้อมูลจาก
sahanetilaw.com, rd.go.th
เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม