คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้มีการประชุมทางวิชาการและเผยแพร่ผลงานวิจัยคัดสรรระดับชาติ เพื่อพัฒนาคุณภาพการศึกษาไทย จัดโดยสมาคมวิจัยสังคมศาสตร์แห่งประเทศไทยร่วมกับคณะครุศาสตร์ จุฬาฯ ศ.ดร.ศิริชัย กาญจนวาสี คณบดีคณะครุศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวว่า การคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาในสถาบันอุดมศึกษาในระบบกลาง หรือ แอดมิชชั่น ที่เหมาะสมกับสังคมไทยคือการมีเครื่องมือที่จะใช้วัดศักยภาพของเด็กได้จริง และมีคุณภาพ เพื่อให้มั่นใจว่าเด็กจะสามารถเรียนจนสำเร็จการศึกษาได้ โดยระบบการคัดเลือกควรแบ่งออกเป็น 2 รอบ คือ รอบแรกเปิดให้เด็กทั่วประเทศเข้าสอบแข่งขันกัน และรอบที่สองให้เด็กในแต่ละพื้นที่แข่งขันกันเองเฉพาะในกลุ่ม เพื่อเด็กจะได้ไม่ต้องวิ่งรอกสอบ
รศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ อาจารย์ประจำคณะ ครุศาสตร์ จุฬาฯ กล่าว ว่า ระบบการคัดเลือกเด็กเข้ามหาวิทยาลัยยังไม่นิ่งและมั่วมาก จัดสอบหลายครั้งหลายวิชาจนทำให้เด็กเครียด ต้องไปกวดวิชาและเสียเงินมาก อีกทั้งมหาวิทยาลัยยังหาผลประโยชน์จากการจัดรับตรงเอง บางแห่งได้เงิน 20-30 ล้านบาท นอกจากนี้ยังมีหลักสูตรผี คือหลักสูตรที่จะใช้สอบเข้ามหาวิทยาลัยและเด็กต้องไปกวดวิชาเท่านั้น เพราะในโรงเรียนไม่มี ดังนั้นตนอยากฝากผู้ใหญ่ที่เกี่ยวข้องหาทางออกในการคัดเลือกเด็กเข้า มหาวิทยาลัย ด้วยการลดจำนวนและวิชาที่จะสอบให้น้อยลง และให้ดูความสามารถของเด็กเป็นหลัก
อาจารย์เกศกร กาฬแก้ว หัวหน้าแนะแนว รร.สาธิตจุฬาฯ ฝ่ายมัธยม กล่าวว่า ปัญหาที่ตนและเด็กเจอในการเข้ามหาวิทยาลัยเหมือนกันคือกังวลว่าจะเป็นหนู ทดลอง เพราะระบบการคัดเลือกที่เปลี่ยนอยู่ตลอด และมีสอบหลายอย่างจนต้องไปกวดวิชา
นายเปรม ผลวิไล นิสิตคณะวิศวกรรมศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์ กล่าวว่า เด็กไทยยังมีความไม่เท่าเทียมกันอยู่มาก คนมีฐานะดีจะมีโอกาสมากกว่า สามารถกวดวิชาและเลือกสอบได้หลายที่ แต่ถ้าจนจะไม่ค่อยมีโอกาส ดังนั้นเมื่อการศึกษาคือการลงทุน ก็อยากให้รัฐบาลเป็นผู้ลงทุน ไม่ใช่ให้พ่อแม่ลงทุน เพราะทุกวันนี้รัฐบาลนำเงินไปลงทุนเรื่องอื่น ๆ มากกว่าจะมาลงทุนกับการสร้างคน
น.ส.นวียา ขุนนาม นักเรียน ม.6 รร.เซนต์ฟรังซีสซาเวียร์คอนแวนต์ กล่าว ว่า ทุกวันนี้หลักสูตรที่เรียนอยู่กว้างมาก แต่ความรู้ที่ได้กลับตื้น เพราะเน้นท่องจำเพื่อกากบาททำให้เครียดมาก เพราะต้องไปกวดวิชา บางคนทำข้อสอบเสร็จออกมานั่งร้องไห้ เพราะข้อสอบยาก จึงต้องไปกวดวิชาให้ตายไปกันข้างหนึ่งเพื่อแก้ตัวใหม่ จริง ๆ แล้วอยากให้การเรียนสนุกและมีความสุข และถ้าเราอยากเห็นเด็กโตเป็นผู้ใหญ่มีคุณภาพการศึกษาต้องมีคุณภาพด้วย
ที่มา: หนังสือพิมพ์เดลินิวส์