6 ก.ค. 2555

[ข่าว] - ADBชี้ธุรกิจติวเตอร์ในเอเชียสุดเฟื่อง-พ่อแม่ควักเงินเป็นพันล้านดอลลาร์




 เอเอฟพี - เอดีบีระบุพ่อแม่ในเอเชียยอมควักกระเป๋าเป็นพันล้านดอลลาร์ ส่งลูกกวดวิชากับติวเตอร์เอกชน แม้ประสิทธิภาพของสถาบันเหล่านี้ยังเป็นที่คาใจก็ตาม แนะภาครัฐทบทวนระบบการศึกษากระแสหลักเพื่อลดทอนความต้องการและความจำเป็นในการเรียนพิเศษ

       
       ธนาคารพัฒนาเอเชีย (เอดีบี) ระบุว่า “การศึกษาเงา” เป็นธุรกิจที่กำลังขยายตัวไม่เพียงในประเทศมั่งคั่งเท่านั้นแต่ยังรวมถึงบางประเทศที่ยากจนของเอเชีย เนื่องจากพ่อแม่พยายามปลุกปั้นให้ลูกเริ่มต้นชีวิตอย่างดีที่สุด
       
       รายงานจากเอดีบีที่จัดทำร่วมกับศูนย์วิจัยการศึกษาเปรียบเทียบ มหาวิทยาลัยฮ่องกง และเผยแพร่ออกมาเมื่อวันพฤหัสบดี (5) เผยว่านักเรียนประถมเกือบ 9 ใน 10 คนในเกาหลีใต้ เรียนกวดวิชา ขณะที่อัตราส่วนนี้สำหรับนักเรียนประถมในอินเดียอยู่ที่ 6 ใน 10
       
       "แม้สัดส่วนในประเทศอื่นๆ อาจต่ำกว่านี้ แต่กล่าวได้ว่า ระบบการศึกษาเงากำลังขยายตัวอย่างมากในเอเชีย”
       
       เหตุผลสำคัญคือ พ่อแม่มากมายมองว่า การเรียนพิเศษที่มีเป้าหมายเพื่อช่วยเด็กที่เรียนรู้ช้าให้เรียนทันเพื่อน และสนับสนุนเด็กที่เก่งอยู่แล้วให้เก่งยิ่งขึ้นนั้น เป็นวิธีการอันสร้างสรรค์ในการใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์สำหรับลูกๆ
       
       ทว่า รายงานฉบับนี้แย้งว่า การเรียนพิเศษอาจแย่งชิงเวลาที่เด็กจะได้เล่นกีฬาหรือทำกิจกรรมอื่นๆ ที่มีความสำคัญต่อพัฒนาการโดยรวม อีกทั้งยังเป็นสาเหตุของความตึงเครียดทางสังคมเนื่องจากครอบครัวที่รวยกว่าสามารถจ่ายให้กับโรงเรียนกวดวิชาที่มีคุณภาพสูงกว่า
       
       รายงานประเมินว่า ค่าใช้จ่ายในการกวดวิชาในเกาหลีใต้มีมูลค่าเท่ากับ 80% ของงบประมาณการศึกษาของรัฐบาล
       
       สำหรับญี่ปุ่นนั้นใช้จ่ายกับการเรียนพิเศษของบุตรหลาน 12,000 ล้านดอลลาร์ในปี 2010 และ 680 ล้านดอลลาร์สำหรับชาวสิงคโปร์ในปี 2008
       
       ที่ฮ่องกง ที่นักเรียนมัธยมปลาย 85% เรียนกวดวิชา มีการโฆษณาติวเตอร์ “ดาวเด่น” เอิกเกริกทั้งทางทีวี หนังสือพิมพ์ และติดโปสเตอร์หลังรถประจำทาง
       
       “แม้ค่าใช้จ่ายในการกวดวิชาในประเทศอื่นๆ อาจน้อยกว่าที่กล่าวมา แต่แนวโน้มนี้กำลังมุ่งหน้าไปในทิศทางเดียวกัน”
       
       อย่างไรก็ดี แม้ได้รับความนิยมโดยเฉพาะอย่างยิ่งในเอเชียตะวันออก ทว่า ผลลัพธ์จากการเรียนกวดวิชากลับคละเคล้ากันไป
       
       “ปัจจัยสำคัญไม่ได้มีเพียงแรงบันดาลใจและความสามารถของนักเรียนเท่านั้น แต่ยังขึ้นอยู่กับแรงบันดาลใจและความสามารถของติวเตอร์ด้วย
       
       “ในหลายประเทศ ใครๆ ก็สามารถเป็นติวเตอร์ได้โดยไม่ต้องผ่านการฝึกอบรม ทำให้ประสิทธิภาพของสถาบันบางแห่งน่าเคลือบแคลงสงสัย”
       
       รายงานเรียกร้องให้ทางการตรวจสอบและกำกับดูแลอุตสาหกรรมนี้ รวมถึงทบทวนระบบการศึกษาของเอเชีย
       
       “รัฐควรถามตัวเองว่า ทำไมจึงมีโรงเรียนกวดวิชา และจะทำอะไรได้บ้างในการศึกษากระแสหลักเพื่อลดความต้องการและความจำเป็นในการเรียนพิเศษลง”

ขอขอบคุณข่าวดีมีสาระจาก (Credit) : manager.co.th