ภาษาไทยเป็นทั้งวัฒนธรรม เอกลักษณ์ และความภูมิใจของคนไทย แต่ปัจจุบันคนไทยจำนวนไม่น้อยที่ใช้ภาษาไทยได้ไม่ดีพอ ไม่รู้ว่าพยัญชนะ สระ และวรรณยุกต์ในภาษาไทยมีกี่รูป กี่เสียง และยังมีคนไทยอีกจำนวนมากที่ยังพูดภาษาไทยผิดบ้าง เขียนผิดบ้าง หรือบ้างก็จับใจความผิด ฟังผิด อ่านผิด บ้างก็พูดภาษาไทยคำภาษาอังกฤษคำ จนเกิดปัญหาการสื่อสารและเข้าใจความหมายของภาษาในทางที่ผิด ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นต้นเหตุที่จะทำให้เสน่ห์ของภาษาไทยค่อย ๆ เลือนหายไป
’ในปัจจุบันนี้ปรากฏว่า ได้มีการใช้คำออกจะฟุ่มเฟือย และไม่ตรงกับความหมายอันแท้จริงอยู่เนือง ๆ ทั้งออกเสียงก็ไม่ถูกต้องตามอักขรวิธี ถ้าปล่อยให้เป็นไปดังนี้ ภาษาของเราก็มีแต่จะทรุดโทรม ชาติไทยเรามีภาษาของเราใช้เองเป็นสิ่งอันประเสริฐอยู่แล้ว เป็นมรดกอันมีค่าตกทอดมาถึงเราทุกคน จึงมีหน้าที่จะตัองรักษาไว้...“ พระบรมราโชวาทในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรแก่นิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม 2512
เราจะเห็นได้ว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเน้นย้ำให้ประชาชนชาวไทยตระหนักถึงความสำคัญของภาษาไทยและพระราชทานแนวความคิดในการอนุรักษ์ภาษาไทยในโอกาสต่าง ๆ อยู่เสมอ ที่สำคัญยิ่งกว่านี้ คือ เป็นที่ประจักษ์ว่าพระองค์มีพระปรีชาญาณและพระอัจฉริยภาพในการใช้ภาษาไทย ทรงรอบรู้ปราดเปรื่องและเป็นแบบอย่างแก่ประชาชนในการใช้ภาษาไทยมาโดยตลอด
กลุ่มคนที่เป็นสาเหตุที่ทำให้เด็กไทยใช้ภาษาไทยอย่างผิดเพี้ยนนั้นต่างมุ่งเป้าไปที่กลุ่มดาราวัยรุ่น นักแสดง นักร้อง นักการเมือง และสื่อมวลชน ที่มักใช้ภาษาอย่างไม่เหมาะสม มีการใช้คำแสลงจนภาษาไทยเข้าขั้นวิกฤติ นอกจากนี้ยังมองว่าพ่อแม่ผู้ปกครองก็ไม่ได้ส่งเสริมสนับสนุนให้เด็กได้อ่านหนังสืออย่างอื่นนอกจากตำราเรียน อีกทั้งสถานศึกษาอีกจำนวนมากไม่ได้สนับสนุนให้เด็กได้ร่วมกิจกรรมหรือโครงการดี ๆ ที่เน้นการอ่าน การเขียน การพูด หรือกิจกรรมที่เน้นให้เด็กได้คลุกคลีกับตัวหนังสือ ในขณะที่ห้องสมุดก็ไม่ค่อยจะมีกิจกรรมดึงดูดให้เด็กเข้าไปศึกษาหาความรู้
แม้ปัญหาการใช้ภาษาไทยได้เกิดขึ้นมาเป็นระยะเวลาอันยาวนานหลายสิบปี แต่ในยุคปัจจุบันนี้ปัญหายิ่งวิกฤติความรุนแรงมากขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งมีปัจจัยหนุนนำที่สำคัญนั่นคือความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีที่ก้าวล้ำไปอย่างรวดเร็ว เราจึงพบการใช้ภาษาไทยแบบผิด ๆ มากมายจนเกือบจะกลายเป็นความคุ้นชิน โดยเฉพาะในกลุ่มวัยรุ่น ยิ่งน่าเป็นห่วงมากที่สุด เป็นกลุ่มที่นิยมใช้ภาษาที่มีวิวัฒนาการทางภาษาที่เฉพาะกลุ่ม ซึ่งเป็นภาษาที่เกือบจะไม่มีไวยากรณ์ ไม่ว่าจะจากการรับส่งข้อความสั้น (SMS) การส่งจดหมายอิเล็กทรอนิกส์ (E-mail) การสนทนาออนไลน์ (MSN) หรือแม้แต่การแสดงความคิดเห็นในโลกอินเทอร์เน็ต
สำหรับภาษาของวัยรุ่นที่พบเห็นกันบ่อย ๆ นั้น มีทั้งภาษาที่ใช้ในการพูด โดยมักพูดให้มีเสียงสั้นลง หรือยาวขึ้น หรือไม่ออกเสียงควบกล้ำเลย เช่น ตัวเอง = ตะเอง ครับ = คับ จริง = จิง เปล่า = ป่าว ส่วนภาษาที่ใช้ในการเขียน ซึ่งจะมีทั้งคำพ้องเสียง เช่น เธอ = เทอ ใจ = จัย หนู = นู๋ ผม = ป๋มไง = งัย กรรม = กำ เสร็จ = เสด ก็ = ก้อ หรือบางคำที่พิมพ์ด้วยความรีบเร่ง ซึ่งจะใกล้เคียงกับกลุ่มคำพ้องเสียง เพียงแต่ว่าบางครั้งการกดแป้น Shift อาจทำให้เสียเวลา จึงไม่กด แล้วเปลี่ยนคำที่ต้องการเป็นอีกคำที่ออกเสียงคล้ายกันแทน เช่น รู้ = รุ้ เห็น = เหน เป็น = เปน ใช่ไหม = ชิมิ และยังมีกลุ่มที่ใช้สื่อสารในเกม โดยใช้ตัวอักษรภาษาอื่นที่มีลักษณะคล้ายตัวอักษรภาษาไทย เช่น เทพ = Inw นอน = uou เกรียน = เกรีeu หรือแม้แต่การเน้นเขียนคำให้สั้นที่สุดโดยใช้สัญลักษณ์แทน เช่น 555 แทนเสียงหัวเราะ เป็นต้น
และยังมีคำอีกมากมายที่ถูกบัญญัติขึ้นโดยกลุ่มผู้ใช้ที่เป็นวัยรุ่น จนแทบจะกลายเป็นภาษาทางการของกลุ่มวัยรุ่นที่นิยมใช้กันอย่างแพร่หลายและนับวันยิ่งขยายวงกว้างออกไปเรื่อย ๆ ซึ่งปัญหาเหล่านี้หากทุกภาคส่วนในสังคมยังคงปล่อยวางไม่เร่งรีบหาทางแก้ไข และยังคงมีการใช้บ่อย ๆ ก็จะทำให้เกิดความเคยชิน อีกทั้งมีการนำไปใช้ในชีวิตประจำวันจนในที่สุดก็จะกลายเป็นเรื่องปกติ ซึ่งน่าหวั่นเกรงยิ่งนักว่าในอนาคตปัญหาวิกฤติภาษาไทยก็จะยิ่งยากเกินการเยียวยาแก้ไข
ณ วันนี้ หากฝืนปล่อยให้กลุ่มคนที่ชอบใช้ภาษาแบบผิด ๆ ด้วยค่านิยมที่ผิด ๆ เพียงรู้สึกว่าการใช้ภาษาตามค่านิยมวัยรุ่นเหล่านั้นดูเป็นคำที่น่ารักและยังช่วยให้พิมพ์ง่ายขึ้น โดยที่ไม่คำนึงถึงสิ่งที่จะตามมา นั่นคือการทำลายภาษาไทยโดยทางอ้อม และที่น่ากลัวยิ่งคือวัยรุ่นบางกลุ่มได้นำคำเหล่านี้ไปใช้ในชีวิตประจำวันและได้แพร่หลายเข้าไปในสถานศึกษา ซึ่งจะเป็นหนทางที่จะนำพาความหายนะมาสู่วงการภาษาไทยซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของชาติที่ทุกฝ่ายไม่ควรมองข้าม
คงต้องฝากถึงผู้ดูแลระดับนโยบายทั้งหลายว่าทำอย่างไรที่จะสามารถกระตุ้นเตือน และปลุกจิตสำนึกของคนไทยทั้งชาติให้ตระหนักถึงความสำคัญและคุณค่าของภาษาไทย รวมถึงการสร้างความร่วมมือร่วมใจกันทำนุบำรุงส่งเสริมและอนุรักษ์ภาษาไทย ซึ่งเป็นเอกลักษณ์และเป็นสมบัติวัฒนธรรมอันล้ำค่าของชาติให้มีความถูกต้องงดงามคงอยู่คู่ชาติไทยตลอดไป.
ข่าวจาก ศูนย์ข่าวการศึกษาไทย