ทปอ.ไม่เลิกรับตรงเคลียริ่งเฮาส์ชี้เด็กทิ้งม.รัฐส่งผลที่นั่งว่างไม่ต่างเอกชน มหา'ลัยเมืองผู้ดียื่นขอตั้งสถาบันในไทย
นายสมคิด เลิศไพฑูรย์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในฐานะประธานที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย ทปอ.เปิดเผยกรณีที่สมาคมสถาบันอุดมศึกษาแห่งประเทศไทย (สอท.) ระบุว่า ยอดรับนักศึกษาเข้าเรียนในปีการศึกษา 2554 ของสถาบันอุดมศึกษาเอกชนลดลง เนื่องจากมหาวิทยาลัยรัฐเพิ่มช่องทางในการเข้าศึกษาต่อมากขึ้น ทั้งระบบรับตรง โควตา ระบบรับตรงผ่านเคลียริ่งเฮาส์ การคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาต่อใน สถาบันอุดมศึกษาด้วยระบบกลางการรับนิสิตนักศึกษา หรือแอดมิสชั่นส์กลาง เป็นต้น โดยเสนอให้ ทปอ.ยกเลิกการรับตรงผ่านเคลียริ่งเฮาส์ ว่า จำนวนนักศึกษาที่ลดลงนั้น ไม่ได้เกิดเฉพาะมหาวิทยาลัยเอกชนเท่านั้น แต่มหาวิทยาลัยรัฐเองมีปัญหารับนักศึกษาได้ไม่ตามเป้าเช่นกัน ทำให้มีมหาวิทยาลัยบางแห่งตามเก็บกวาดนักศึกษา หรือเปิดรับตรงอีกรอบหลังแอดมิสชั่นส์เสร็จ ซึ่งปัญหาอาจเกิดจากสถาบันอุดมศึกษามีมากขึ้น ขณะที่นักเรียนชั้น ม.6 ที่จะเข้าเรียนมหาวิทยาลัยลดลง ขณะเดียวกันพบว่าปีนี้มีนักศึกษาสละสิทธิมากขึ้น รวมถึง มธ.เพราะอาจสอบติดในคณะ หรือสาขาที่ไม่อยากเรียน จึงสละสิทธิไปเรียนที่อื่น
"ที่ สอท.ขอให้ ทปอ.ยกเลิกรับตรงผ่านเคลียริ่งเฮาส์นั้น ไม่ใช่แนวทางแก้ปัญหา และ ทปอ.เองพบว่ารับตรงผ่านเคลียริ่งเฮาส์เป็นไปด้วยดี แก้ปัญหาเด็กวิ่งรอกสอบได้ และมหาวิทยาลัยคัดเด็กได้ตรงตามความสามารถ ซึ่งผมไม่อยากเปลี่ยนระบบกลับไปกลับมา จึงคิดว่าใช้รับตรงผ่านเคลียริ่งเฮาส์ไปอีกระยะหนึ่ง และหากพบว่าเป็นระบบที่ทำให้เกิดปัญหาจริง ก็พร้อมยกเลิก ทั้งนี้ ที่ผ่านมา ทปอ.ขอความร่วมมือมหาวิทยาลัยรัฐให้เปิดรับตรงไม่เกิน 50% ซึ่งส่วนใหญ่ให้ความร่วมมือ แต่ยอมรับมีหลายแห่งเปิดรับตรงมากขึ้น เช่น เดิมรับตรง 10% แต่เมื่อรับได้ไม่เต็มตามเป้า ก็ขยายเป็น 30% แต่พยายามไม่ให้เกิน 50% ทั้งนี้ ต้องยอมรับการที่มหาวิทยาลัยเปิดรับตรงมากขึ้น มหาวิทยาลัยเอกชนจะได้รับผลกระทบค่อนข้างมาก เพราะคนส่วนใหญ่ยังมีค่านิยมอยากเข้าเรียนในมหาวิทยาลัยรัฐมากกว่า ซึ่ง ทปอ.รู้ปัญหามาโดยตลอด แต่ใช่ว่าการแข่งขันจะเกิดระหว่างมหาวิทยาลัยรัฐ และเอกชนเท่านั้น ระหว่างมหาวิทยาลัยรัฐก็แข่งกันเองเช่นกัน แต่ละแห่งจึงควรแข่งกันที่คุณภาพ และปัญหาที่เกิดขึ้น สถาบันอุดมศึกษาเอกชนเล็กๆ คงต้องปรับตัว เน้นสอนสาขาที่ถนัด ไม่ใช่เปิดแข่งกันทุกสาขา เมื่อสาขาใดมีคนเรียนน้อย ก็ควรจะปิด เพื่อไม่ให้สิ้นเปลืองทรัพยากร" นายสมคิดกล่าว
นพ.กำจร ตติยกวี รองเลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา (กกอ.) กล่าวว่า สถานการณ์ของสถาบันการศึกษาเอกชนมี 2 รูปแบบ คือขอเปลี่ยนสถานะจากวิทยาลัยเป็นมหาวิทยาลัย และขอเปิดสถาบันใหม่ ซึ่งขณะนี้มีมหาวิทยาลัยชื่อดังจากอังกฤษ ขออนุญาตเปิดการเรียนการสอนในไทย โดยได้รับการสนับสนุนอย่างดีจากบริติช เคานซิล และรัฐบาลอังกฤษ โดยสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) อยู่ระหว่างการพิจารณา และมีความเป็นไปได้ที่จะเข้ามาเปิดการเรียนการสอนในไทย ซึ่งที่ผ่านมามีสถาบันการศึกษาต่างชาติเข้ามาเปิดสอนในไทยบ้าง เช่น มหาวิทยาลัยนานาชาติแสตมฟอร์ด และมหาวิทยาลัยเวสเทิร์น ส่วนที่กังวลว่าต่อไปจะมีนักลงทุนต่างชาติเข้ามาซื้อสถาบันการศึกษาเอกชนนั้น ขณะนี้ยังไม่พบ แต่อาจมีบางแห่งที่ให้ชาวต่างชาติเข้าไปถือหุ้นด้วย และยังไม่มีสถาบันเอกชนใดมาขอปิดกิจการ
"คิดว่าสถาบันอุดมศึกษาทั้งรัฐ และเอกชน ต้องเตรียมพร้อมรับสถานการณ์ เพราะการศึกษาจะเป็นส่วนหนึ่งเมื่อเข้าสู่ประชาคมอาเซียนในปี 2558 ต่อไปอาจมีสถาบันอุดมศึกษาต่างชาติเข้ามาเปิดสอนในไทยมากขึ้น ดังนั้น อยากให้มหาวิทยาลัยทุกแห่งปรับตัว โดยเน้นคุณภาพมากขึ้น ทั้งคุณภาพการเรียนการสอน และคุณภาพของบัณฑิต" นพ.กำจรกล่าว
ข่าวจาก ศูนย์ข่าวการศึกษาไทย