15 ส.ค. 2555

[ไลค์สาระ] - ชวนชมปรากฏการณ์ดาวเคียงเดือน และดาวเคราะห์ชุมนุม เดือนสิงหาคม


สถาบันวิจัยดาราศาสตร์ เชิญชวนประชาชนร่วมชมปรากฏการณ์ดาวเคียงเดือน และดาวเคราะห์ชุมนุม ในเดือนสิงหาคมนี้
ดร.ศรัณย์ โปษยะจินดา รองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (สดร.) เปิดเผยว่า ในเดือนสิงหาคมจะมีปรากฏการณ์ดาวเคียงเดือนที่น่าติดตาม โดยในช่วงเช้ามืดของวันที่ 15 สิงหาคมนี้ เวลาประมาณ 04.00 น. ดาวศุกร์จะปรากฏเคียงข้างดวงจันทร์เสี้ยว 12 ค่ำ ทางใต้ของดวงจันทร์ประมาณ 0.56 องศา ทั้งนี้ หากสภาพท้องฟ้าโปร่ง ไม่มีเมฆ จะสามารถมองเห็นความสวยงามของดาวเคียงเดือนด้วยตาเปล่าได้อย่างชัดเจน เนื่องจากดาวศุกร์และดาวพฤหัสบดีนับเป็นดาวเคราะห์สองดวงที่มีความสว่างเป็นอันดับ 1 และ 2 บนท้องฟ้าทางทิศตะวันออก


แผนภาพแสดงปรากฏการณ์ “ดาวเคราะห์ชุมนุม”
นอกจากนี้ในช่วงค่ำหลังดวงอาทิตย์ลับขอบฟ้าในวันที่ 22 สิงหาคม ดาวเสาร์ ดาวอังคาร ดาวสไปก้า ( Spica ) จะมาชุมนุมกันเคียงดวงจันทร์ข้างขึ้น 5 ค่ำ ที่ปรากฏเป็นเสี้ยวบางๆ บนท้องฟ้าทางทิศตะวันตก ดาวเคราะห์ทั้งสามดวงมีความสว่างพอกัน แต่มีสีที่ปรากฏต่างกัน จะเห็นดาวเสาร์เป็นสีเหลือง ดาวอังคารเป็นสีส้ม และดาวสไปก้าเป็นสีขาว สังเกตเห็นได้ด้วยตาเปล่า ในทุกภูมิภาคของประเทศ
ดร.ศรัณย์ กล่าวว่า เหตุการณ์ดาวเคียงเดือนและดาวเคราะห์ชุมนุมนี้ เป็นเพียงมุมปรากฏบนท้องฟ้า ซึ่งดาวเคราะห์แต่ละดวงจะกระจายอยู่ตามวงโคจรของดาวดวงนั้น ๆ ถึงแม้ว่าจะไม่ได้เกิดขึ้นบ่อย แต่เหตุการณ์ดาวเคียงเดือนและดาวเคราะห์ชุมนุมนี้ถือเป็นเรื่องปกติในทางดาราศาสตร์

ส่วนภาพสุดท้ายที่เห็นมุมกว้างนี้  จขกท. บันทึกจากโปรแกรมดูดาวจำลองชื่อ Stellarium  เวลาที่บันทึกคือ วันที่ 21 ส.ค.55  เวลา 19.54 น. (เป็นเวลาที่ผมให้โปรแกรมเดินหน้าไปจนกว่าจะเห็นกลุ่มดาวชุดนี้น่ะครับ)  ซึ่งจะเห็นวันเวลาอยู่ที่ขอบบนด้านซ้ายของภาพ  ซึ่งเวลาการเห็นดาวเคียงเดือนอาจจะไม่ตรงกับข้อมูลด้านบน  ซึ่งอาจจะเกิดจากปัญหาของเขตเวลาน่ะครับ  ผิดพลาดยังไงก็ขออภัยด้วยนะครับ
ปรากฎการณ์ดาวเคียงเดือนในครั้งนี้ก็พิเศษกว่าทุกครั้งตรงที่เราจะได้เห็นดาวเสาร์กันนี่แหละครับ  ดาวเสาร์เป็นดาวในดวงใจของผมมาตั้งแต่เด็กๆ และก็เชื่อว่าหลายๆ คนก็คงหลงรักดาวเสาร์เหมือนผมด้วยเหมือนกัน  หวังว่าเพื่อนๆ ชาวโพสท์จังคงร่วมดูด้วยกันนะครับ (ถ้าฝนไม่ตกเสียก่อน)
ขอบคุณข้อมูล Science-Manager