ปูชนียบุคคลภาษาไทยค้านเปลี่ยนสำนวนไทยเป็น “รักวัวให้ผูก รักลูกให้กอด” ชี้ความหมายวรรคหน้าและหลังไม่สอดคล้อง ทำให้เกิดความสับสนเข้าใจผิดในสำนวนไทย แนะให้แต่งใหม่เพื่อรณรงค์โดยเฉพาะ อย่าดัดแปลงอย่างไม่เข้าใจราก
รศ.ยุพร แสงทักษิณ ปูชนียบุคคลด้านภาษาไทย ประจำปี 2555 ผู้เชี่ยวชาญด้านภาษาและวรรณคดี มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวถึงกรณีคณะกรรมการพัฒนาการเด็กปฐมวัยแห่งชาติเห็นชอบเสนอเปลี่ยนสำนวนไทย "รักวัวให้ผูก รักลูกให้ตี" เป็น "รักวัวให้ผูก รักลูกให้กอด" เพื่อส่งเสริมความอบอุ่นในครอบครัว ว่า ขอเสนอแนะให้แต่งคำขวัญขึ้นมาใหม่เพื่อใช้รณรงค์ตามวัตถุประสงค์ ไม่ควรเอาสำนวนไทยโบราณมาดัดแปลง โดยเฉพาะกรณีดังกล่าว วรรคหลังที่แต่งขึ้นใหม่ ไม่สอดคล้องกับวรรคหน้าอย่างชัดเจน
รศ.ยุพร อธิบายว่า ประโยคว่า "รักวัวให้ผูก" เป็นการทำโทษผูกวัวที่มักเดินไปที่ต่าง ๆ แล้วสร้างความเสียหาย เพื่อไม่ให้วัวเดินไปเหยียบไร่นาของชาวบ้าน แล้วถูกทำร้าย เพื่อให้มันปลอดภัย ส่วน "รักลูกให้ตี" หมายความว่าเป็นการลงโทษลูกด้วยความรัก ให้เกิดความเข็ดหลาบ ไม่กระทำความผิดอีก ในสมัยโบราณใช้วิธีการตี แต่ในปัจจุบันอาจเป็นการตัดลดเงินค่าขนมก็ได้ ทั้งสองวรรคจึงหมายถึงการลงโทษด้วยความรักเพื่ออนาคตที่ดีทั้งของวัวและของลูก ดังนั้น หากนำ "รักลูกให้กอด" มาแทน จึงขัดแย้งและทำให้เกิดความสับสนในสำนวนไทย ทั้งนี้ จะใช้ประโยคว่า "รักลูกให้กอด" เพียงวรรคเดียว หรือจะแต่งใหม่ทำนองว่า "กอดลูกวันละครั้ง สร้างพลังความรัก" ก็ย่อมได้ แต่ไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขสำนวนไทยที่ใช้กันมาแต่โบราณ
"ยกตัวอย่างว่า ลูกคนใหญ่คนโต ไปทำร้ายใคร จะให้พ่อแม่สั่งสอนด้วยการกอดปลอบลูกเอาไว้หรือ ฉะนั้นอย่าเอาสองประโยคนี้มาเข้ากัน ถ้าเรารัก เราเมตตา เราเห็นแก่อนาคตของลูกก็ควรต้องทำโทษ ให้อยู่ในระเบียบวินัย มีความประพฤติดี" รศ.ยุพร กล่าวและว่า การดัดแปลงสุภาษิตสำนวน โดยไม่เข้าใจรากความหมายและบริบทที่แท้จริง จะทำให้เกิดความเข้าใจสับสนในสำนวนไทยมากขึ้น
Credit : ENN.co.th