21 ส.ค. 2555

[ข่าว] - ผลสรุปการใช้ O-Net ร.ร.ทางเลือก ยึดถือความแตกต่างเป็นเหตุผลสำคัญ





UploadImage

          นายชินภัทร ภูมิรัตน เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาธิการ กพฐ.) เปิดเผย การเสวนาผลสรุปการประชุมเสวนาเรื่องการใช้ O-Net เป็นองค์ประกอบหนึ่งในการตัดสินผลงานของการเรียนว่า ผู้เข้าร่วมประชุม มีทั้ง กลุ่มโรงเรียนทางเลือก และ โรงเรียนด้อยโอกาส เสียงส่วนใหญ่ได้ข้อสรุปว่า การสอบ O-Net จำเป็นจะต้องมีอยู่เพื่อสะท้อนคุณภาพการศึกษาของชาติ แต่ไม่จำเป็นที่เด็กจะต้องสอบทุกคน เพราะการจัดการศึกษาทางเลือกนั้น จัดตามศักยภาพของเด็กแต่ละคน เช่น โรงเรียนสำหรับเด็กด้อยโอกาส ซึ่งอาจจะไม่จำเป็นให้เด็กมาสอบ O-Net เพราะเด็กกลุ่มนี้มีเปอร์เซ็นต์การเรียนต่อน้อย ส่วนใหญ่เมื่อจบการศึกษาขั้นพื้นฐานแล้วจะไปประกอบอาชีพทันที อีกทั้ง การจัดการเรียนการสอน ก็มีความแตกต่างจากโรงเรียนในระบบ สพฐ.จึงจะกำหนดให้สำหรับโรงเรียนทางเลือกไม่บังคับให้เด็กต้องสอบ O-Net ทุกคน จึงจะไม่มีการนำคะแนน O-Net มาถ่วงน้ำหนักกับคะแนนเฉลี่ยสะสมตลอดหลักสูตร หรือ GPAX เหมือนกันโรงเรียนทั่วไป โดย สพฐ.จะไปทบทวนดูว่าประกาศกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เรื่อง การใช้ผลการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน เป็นองค์ประกอบหนึ่งในการตัดสินผลการเรียนการของผู้ที่จบการศึกษาตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน นั้นเปิดช่องให้มีการยกเว้นสำหรับโรงเรียนกลุ่มนี้หรือไม่ ถ้าไม่มีจะมีการออกประกาศเพิ่มเติมให้โรงเรียนทางเลือก โรงเรียนกลุ่มเป้าหมายเฉพาะไม่ต้องนำ O-Net ไปถ่วงน้ำหนัก GPAX


          เลขาธิการ กพฐ. กล่าวต่อว่า ที่ประชุมได้หยิบยกเรื่องการสอบ O-Net มาหารือว่าจำเป็นต้องสอบ O-Net ครบทุกทั้ง 8 กลุ่มสาระวิชาหรือไม่ หรือน่าจะลดลงไปสอบเฉพาะวิชาที่เป็นทักษะจำเป็น ซึ่งน่าจะสามารถสะท้อนคุณภาพการศึกษาได้ โดยไม่จำเป็นต้องลงรายละเอียดมาสอบทุกกลุ่มสาระวิชา เหมือนอย่างการสอบ PISA ที่เป็นการประเมินผลการจัดการศึกษาระดับนานาชาตินั้น จะมีการประเมินแค่ 3 ด้าน คือ ความสามารถทางภาษา ความสามารถในการคิดคำนวณ และความสามารถในการคิดวิเคราะห์แก้ปัญหา นอกจากนั้น ยังมีการพูดกันอีกว่า หลักสูตรของแต่ละช่วงชั้นที่กำหนดเป็น 8 กลุ่มสาระวิชาเหมือน ๆ กันนั้นอาจจะหนักเกินไป สำหรับเด็กบางช่วงชั้นไม่จำเป็นต้องเรียนถึง 8 กลุ่มสาระวิชา ดั้งนั้น สพฐ.จะตั้งคณะกรรมการขึ้นดึงทุกฝ่ายมาร่วมเป็นกรรมการ และศึกษาวิจัยเพื่อรวบรวมข้อมูลและนำไปหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป




ที่มา: http://www.naewna.com