ดร.จิรพรรณ ปุณเกษม รองเลขาธิการสภาการศึกษา กล่าวในการเสวนาภาคีเครือข่ายการพัฒนาศักยภาพการศึกษาสู่ประชาคมอาเซียน (เออีซี) ว่า หากเปรียบเทียบกับอียู ซึ่งมีความเหมือนกันในเรื่องของภาษาและวัฒนธรรม มากกว่ากลุ่มอาเซียน ซึ่งมีภาษา วัฒนธรรม ศาสนา ที่ต่างกัน จะทำอย่างไรที่จะอยู่ร่วมกับเพื่อนบ้านอย่างเสมอภาคและสมศักดิ์ศรี จะบริหารความแตกต่างนี้อย่างไร เพราะนักศึกษาไทยยังขาดทักษะภาษาอังกฤษ เราจึงต้องเตรียมคนให้มีความพร้อมในเรื่องนี้ สกศ.ทำวิจัยและเตรียมความพร้อมในเรื่องของกรอบคุณวุฒิแห่งชาติ หรือเอ็นคิวเอฟ เพื่อใช้เชื่อมโยงความต้องการกำลังคนที่มีคุณภาพกับระบบคุณวุฒิการศึกษาของ ไทย เทียบกับนานาชาติ โดยแบ่งโครงสร้างเป็น 9 ระดับ ตั้งแต่ระดับ ม.ต้น-ป.เอก ซึ่งร่างกรอบคุณวุฒิแห่งชาตินี้ จะนำเสนอที่ประชุมคณะกรรมการสภาการศึกษา (กกศ.) และคณะรัฐมนตรี (ครม.) ต่อไป
ด้านนายเปรื่อง กิจรัตน์ภร ประธานที่ประชุมอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏแห่งประเทศไทย กล่าวว่า เป้าหมายของอาเซียนมี 3 ด้าน คือ 1.ด้านความมั่นคง 2.ด้านเศรษฐกิจ และ 3.ด้านสังคม/วัฒนธรรม จะเห็นว่าในอดีตเราใช้กำลังทหารในการยึดครอง แต่ปัจจุบันต้องใช้วัฒนธรรมไม่มีขอบเขตและพื้นที่ ซึ่งมหาวิทยาลัยราชภัฏทั้ง 41 แห่ง เตรียมความพร้อมในเรื่องของวัฒนธรรมท้องถิ่น และทำความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้าน เพราะการจะสร้างและผลิตบัณฑิตให้เป็นเครือข่ายได้ จะต้องพัฒนาคนให้มีคุณลักษณะ 4 ประการ คือ มีความซื่อสัตย์ อดทน ขยันหมั่นเพียร และเสียสละกาย ใจ ซึ่งเราพร้อมหรือยังที่จะช่วยพัฒนาคนให้มีคุณลักษณะเหล่านี้
ที่มา: หนังสือพิมพ์ข่าวสด