2 ต.ค. 2555

[ข่าว] - ศธ.หาวิธีจัดเรียน - สอนผ่านมือถือ ทีเคปาร์คทุ่มงบฯให้บริการอีบุ๊ก



UploadImage


          ศ.ดร.สุชาติ  ธาดาธำรงเวช  รมว.กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ ที่ประชุมสภาการศึกษา (สกศ.) ได้เห็นชอบให้คณะอนุกรรมการด้านเทคโนโลยีไปศึกษาเรื่องการศึกษาผ่านระบบมือ ถือ  ตามที่ผู้แทนองค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ  หรือ ยูเนสโก ได้เสนอโครงการการใช้เทคโนโลยีและการสื่อสารเพื่อการเรียนรู้ เพื่อต้องการเพิ่มโอกาสการเรียนรู้ของผู้เรียนได้อย่างหลากหลาย  ซึ่งประเทศไทยมีหน่วยงานของรัฐ เช่น กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) บริษัท ทีโอที จำกัด  เป็นต้น โดยจะศึกษารูปแบบและวิธีการที่จะทำให้ระบบการศึกษาผ่านโทรศัพท์เคลื่อนที่ หรือ โทรศัพท์มือถือ สามารถช่วยเหลือการเรียนรู้ตลอดชีวิตของคนได้ เช่น เด็กต่างจังหวัดต้องติววิชาเฉพาะผ่านมือถือจะทำได้อย่างไร เป็นต้น ซึ่งจะช่วยให้เด็กไม่ต้องเสียเวลาเดินทางมากวดวิชาถึงในกรุงเทพฯ เป็นต้น


          รมว.ศธ. กล่าวต่อไปว่า โครงการดังกล่าวจะเน้นการดำเนินกิจกรรมหลัก 5 ด้าน ได้แก่ 1. การส่งเสริมการพัฒนาเนื้อหาการเรียนรู้ดิจิทัล ที่สามารถส่งผ่านโทรศัพท์เคลื่อนที่ที่ง่ายแก่การอ่าน มีเนื้อหาสั้นกะทัดรัด และสามารถส่งผ่านถึงกันได้ในระยะสั้น  2. การพัฒนาทักษะครูเพื่อส่งเสริมความสามารถในการสืบค้นข้อมูล รวมทั้งการเป็นพี่เลี้ยงแก่ผู้เรียนในการสร้างเนื้อหาผ่านระบบดิจิทัล โดยใช้เทคโนโลยีจากแอพพลิเคชั่นต่าง ๆ 3. การพัฒนาเทคโนโลยีการสื่อสารในโทรศัพท์มือถือ หรือสื่อเคลื่อนที่ที่เอื้อประโยชน์ต่อผู้เรียนและครู ในการสร้างเนื้อหาและพัฒนาเนื้อหา รวมทั้งการสืบค้นข้อมูล  4. การประเมินผลการเรียนรู้โดยใช้หน่วยความจำของเครื่องมือสื่อสารของผู้เรียน เทียบเคียงกับการประเมินผลความรู้ที่ผู้ใช้โทรศัพท์ได้รับ และ 5. การกำหนดนโยบายแห่งชาติ หรือ ยุทธศาสตร์การส่งเสริมการเรียนรู้ด้วยโทรศัพท์เคลื่อนที่


          ด้าน ดร.ทัศนัย วงศ์พิเศษกุล ผู้อำนวยการสำนักงานอุทยานการเรียนรู้ (ทีเคปาร์ค) กล่าว ว่า เทคโนโลยีที่ทันสมัยในปัจจุบันทำให้ความต้องการอ่านหนังสือเริ่มเปลี่ยนแปลง ไป โดยเฉพาะการใช้บริการยืมหนังสือผ่านระบบห้องสมุดอินเทอร์เน็ต หรือ อีไลบราลี ดังนั้นตั้งแต่ปีงบประมาณ 2555 เป็นต้นไป ทีเคปาร์ค มีนโยบายจัดสรรงบประมาณจำนวนร้อยละ 20-30 ของงบฯทั้งหมด เพื่อใช้สำหรับการซื้อหนังสืออิเล็กทรอนิกส์เข้าห้องสมุด อย่างไรก็ตามปัญหาเวลานี้คือบริษัทผู้ผลิตและจัดทำหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ยัง มีจำนวนจำกัด รวมถึงหนังสือดี ๆ ที่จัดทำในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ก็ยังมีน้อย ทำให้ไม่สามารถจัดหามาสนองตอบความต้องการผู้อ่านได้ครบทุกด้าน ส่งผลให้นักอ่านยังไม่นิยมการอ่านหนังสืออิเล็กทรอนิกส์เท่าที่ควร ซึ่งสิ่งที่ต้องทำ คือ ทำให้มีจำนวนหนังสือมากขึ้น และหลากหลายยิ่งขึ้น.



ที่มา: เดลินิวส์