นายชินภัทร ภูมิรัตน เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เปิด เผยว่า จากการประชุม กพฐ.ที่มีนายพารณ อิศรเสนา ณ อยุธยา เป็นประธาน ที่ประชุมระดมความคิดเห็นเกี่ยวกับทิศทางการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานในอนาคต ซึ่งได้ข้อสรุปใน 5 องค์ประกอบ ได้แก่ 1.ผู้เรียน เน้นความดีและความเก่งโดยนักเรียนต้องมีสติปัญญาและพัฒนาการต่างๆ ควบคู่กัน 2.หลักสูตร ต้องจัดให้สอดคล้องกับวัยผู้เรียน ในระดับต้นๆ ต้องรู้เรื่องภาษา การคิดคำนวณ ส่วนระดับที่สูง ต้องเตรียมพร้อมเข้าสู่ระดับสากล ซึ่งต้องทบทวนว่าจำนวนคาบต่อวันมากเกินไปหรือไม่ และควรจัดภาคปฏิบัติให้เพียงพอ 3.ครู ควรนำผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของผู้เรียนมาเชื่อมโยงเพื่อจำแนกครูที่สอนและ ประสบความสำเร็จให้เป็นต้นแบบแก่ครูที่ยังมีปัญหา และระบบการให้ความดีความชอบ การเลื่อนวิทยฐานะต้องสอดคล้องกับผลสัมฤทธิ์ของนักเรียน อีกทั้งต้องมีมาตรการให้ครูที่สอนแล้วผลสัมฤทธิ์เด็กไม่ดี มีความรับผิดชอบเรื่องนี้ด้วย
เลขาธิการ กพฐ.กล่าวว่า 4.สถานศึกษา ต้องจำแนกตามศักยภาพความพร้อมและบริบทต่างๆ เช่น โรงเรียนในฝัน โรงเรียนมาตรฐานสากล เป็นต้น ควรมีการบริหารจัดการที่หลากหลายโดยให้อิสระและความคล่องตัวแก่โรงเรียนที่ มีศักยภาพสูง รวมทั้งต้องแก้ปัญหาโรงเรียนขนาดเล็ก และ 5.การบริหารจัดการ จะต้องลดช่องว่างและความเหลื่อมล้ำระหว่างโรงเรียนและเขตพื้นที่ฯ เพื่อให้ได้รับโอกาสและประโยชน์จากการจัดสรรทรัพยากร
"จากนี้จะทำแผนยุทธศาสตร์ในภาคปฏิบัติและนำเสนอที่ประชุม กพฐ.อีกครั้ง ส่วนการพิจารณาจำนวนคาบและชั่วโมงเรียน ยังไม่มีข้อสรุปว่าจะปรับหรือลด เพียงแต่ สพฐ.ต้องทบทวน ซึ่งอาจเป็นไปได้สองแนวทางว่าอาจจะลดคาบเรียนให้น้อยกว่า 7 ชั่วโมงที่เรียนอยู่ในปัจจุบัน หรืออาจจะคงจำนวนคาบเรียน แต่อาจเพิ่มการเรียนด้านกิจกรรม ภาคปฏิบัติมากขึ้นในภาคบ่าย ไม่ใช่เน้นด้านวิชาการอย่างเดียว ซึ่ง สพฐ.ต้องสอบถามความเป็นไปได้จากโรงเรียนด้วย" นายชินภัทรกล่าว
ที่มา: หนังสือพิมพ์มติชน