4 ส.ค. 2555

[ข่าว] - แฉเงินเดือนผู้บริหารมหา′ลัยพุ่ง3แสนบ.′พนง.′ดิ่งเหวแย่กว่าลูกเมียน้อย



UploadImage

นายเปรื่อง กิจรัตน์ภร อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏ (มรภ.) พระนคร ในฐานะประธานที่ประชุมอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏแห่งประเทศไทย (ทปอ.มรภ.) เปิดเผยว่า ที่ประชุม ทปอ.มรภ.เมื่อเร็วๆ นี้ มีความเห็นร่วมกันว่า ปัญหาค่าตอบแทนของพนักงานมหาวิทยาลัย ถือเป็นเรื่องใหญ่ที่ต้องเร่งแก้ไข ดังนั้น วันที่ 7 สิงหาคม ตนในฐานะประธาน ทปอ.มรภ.จึงเชิญผู้บริหารกองแผนและนโยบายของ มรภ.ทั้ง 40 แห่ง มาจัดทำข้อมูลว่าแต่ละแห่งให้เงินเดือนพนักงาน แต่ละสาย/ ระดับ จำนวนเท่าไหร่ เพื่อหามาตรฐานกลางของค่าตอบแทนที่พนักงานในกลุ่ม มรภ.ควรจะได้รับ รวมถึง ต้องคำนวณด้วยว่าหากใช้มาตรฐานกลางค่าตอบแทนที่ มรภ.ทั้ง 40 แห่งตกลงร่วมกันแล้ว รัฐบาลจะต้องสนับสนุบงบประมาณเพิ่มให้มหาวิทยาลัยอีกเท่าใดถึงจะพอ จากนั้นจะเสนอสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) พิจารณา และเสนอต่อสำนักงบประมาณต่อไป

นายเปรื่องกล่าวต่อว่า อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมารัฐบาลจัดสรรงบฯให้มหาวิทยาลัยเป็นก้อน เพื่อใช้จ่ายค่าตอบแทน 1.5-1.7 เท่าของเงินเดือนข้าราชการ แต่ทั้งหมดนี้ไม่ได้บอกว่าให้มหาวิทยาลัยจ่ายเฉพาะเงินเดือนเท่านั้น แต่รวมถึงสวัสดิการต่างๆ ด้วย ดังนั้น แต่ละแห่งจึงต้องหักจาก 1.5-1.7 เท่าไปจัดทำเป็นสวัสดิการต่างๆ ให้พนักงานทำให้ได้เงินเดือนไม่เท่ากัน

"โดยเฉพาะเมื่อรัฐบาลขึ้นเงินเดือนให้ข้าราชการ แต่ไม่ได้รวมพนักงาน และบอกให้มหาวิทยาลัยใช้เงินรายได้ของตัวเองเจียดจ่ายไปก่อน ซึ่งบางแห่งไม่มีเงินมากพอ ขณะที่ มรภ.ยังมีสถานภาพเป็นมหาวิทยาลัยของรัฐ และยังไม่ได้เป็นมหาวิทยาลัยในกำกับรัฐ ดังนั้น รัฐจึงต้องรับภาระดูแลเรื่องดังกล่าวด้วย ขณะเดียวกันรัฐบาลเองไม่ชัดเจนว่าจะสนับสนุนมหาวิทยาลัยให้ออกนอกระบบหรือไม่ หากต้องการให้ออกนอกระบบ ก็ควรต้องมีปัจจัยที่เข้ามาสนับสนุน และผลักดันมหาวิทยาลัยมากกว่านี้ มหาวิทยาลัยจะได้เตรียมความพร้อม" นายเปรื่องกล่าว

นายสมพงษ์ จิตระดับ อาจารย์ประจำคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ในภาพรวมคิดว่าระบบพนักงานในสถาบันอุดมศึกษา ไม่เป็นไปตามแนวคิด หรือหลักการเกิดพนักงาน จะเห็นได้ว่าปัญหาซึ่งเป็นข้อกังวลก่อนมหาวิทยาลัยจะออกไปเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับรัฐหลายข้อเป็นจริงขึ้นมาแล้ว อาทิ เงินเดือนผู้บริหารมหาวิทยาลัยบางแห่งสูง 200,000-300,000 บาท แต่เงินเดือนพนักงานกลับต่ำมาก เสรีภาพทางวิชาการน้อยลง เพราะถูกระบบประเมินผลงานค้ำคออยู่ พนักงานไม่มีขวัญกำลังใจ เพราะไม่มีหน่วยงานที่ออกมาเป็นปากเป็นเสียงให้ และส่งผลกระทบถึงค่าหน่วยกิตของนักศึกษาที่สูงขึ้น จากหลักสูตรพิเศษต่างๆ ที่เพิ่มขึ้น

นายสมพงษ์กล่าวต่อว่า ปัญหาดังกล่าวถือเป็นวิกฤตหนึ่งของระบบอุดมศึกษาที่ต้องเร่งแก้ไข และหากยังไม่ทำให้ระบบพนักงานดีขึ้น คุณภาพของสถาบันอุดมศึกษาจะต่ำลงเรื่อยๆ แม้จะมีปริมาณงานวิจัยเพิ่มขึ้น แต่จะไม่เกิดผลในเชิงคุณภาพที่จะใช้งานวิจัยไปช่วยพัฒนาประเทศได้อย่างแท้จริง ทั้งนี้ ในส่วนของจุฬามีปัญหาไม่มากเท่าที่อื่น เพราะยอมรับว่าจุฬาเป็นมหาวิทยาลัยใหญ่ที่มีความพร้อมทั้งด้านศักยภาพ และทรัพยากรค่อนข้างมาก ขณะเดียวกับ พ.ร.บ.จุฬายังเขียนไว้ค่อนข้างดีและชัดเจน ตนเป็นหนึ่งในพนักงานสายวิชาการ ที่เลือกเปลี่ยนสถานภาพจากข้าราชการมาเป็นพนักงานรุ่นแรก ได้เงินเดือน 1.7 เท่า และทุกครั้งที่รัฐบาลขึ้นเงินเดือนให้ข้าราชการ จุฬาจะปรับให้ด้วยแต่อาจจะช้าหน่อย ส่วนของพนักงานสายสนับสนุนจะได้รับเท่าไหร่นั้น ไม่ทราบข้อมูลที่ชัดเจน

"ปัญหาการออกนอกระบบของมหาวิทยาลัยนั้น ผมคิดว่ามหาวิทยาลัยเล็กๆ ที่เตรียมออกนอกระบบ จะได้รับผลกระทบมากกว่า เพราะจะสู้มหาวิทยาลัยใหญ่ไม่ได้ ขณะที่พนักงานที่บรรจุช้าจะเหมือนไม่มีอนาคต หากไม่จัดระบบดูแลให้ดีจะกลายเป็นปัญหา เพราะขณะนี้ไม่ใช่แค่เรื่องลูกเมียน้อยแล้ว แต่พนักงานจะกลายเป็นลูกหลง และมีสถานะไม่ต่างจากลูกจ้างเท่านั้น" นายสมพงษ์กล่าว

ขอขอบคุณข่าวสารดีๆจากทาง :มติชนรายวัน