3 ก.ย. 2555

[ข่าว] - 'ยูเนสโก'ดันเด็กเรียนรู้ผ่านมือถือ พัฒนา'เนื้อหา-แอพ'นำร่องทั่วโลก



UploadImage
 
'ยูเนสโก'ดันเด็กเรียนรู้ผ่านมือถือ พัฒนา'เนื้อหา-แอพ'นำร่องทั่วโลก สกศ.หนุน-เตรียมชงบอร์ดไฟเขียว

          นายเอนก เพิ่มวงศ์เสนีย์ เลขาธิการสภาการศึกษา เปิดเผยว่า จากการประชุมและหารือกับผู้แทนด้านเทคโนโลยีทางการศึกษา ขององค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) เมื่อเร็วๆ นี้ ได้รับแจ้งว่าขณะนี้ยูเนสโกกำลังทำโครงการส่งเสริมการเรียนรู้ด้วยโทรศัพท์ เคลื่อนที่ (Mobile Learning Project) และต้องการให้กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ของไทย ได้พิจารณาเกี่ยวกับโครงการนี้ส่งไปยังยูเนสโก ซึ่งนอกจากประเทศไทยแล้วยูเนสโกยังได้ให้ประเทศสมาชิกต่างๆ ทั่วโลกได้แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับโครงการดังกล่าวด้วย ก่อนที่จะนำมาใช้จริงในประเทศต่างๆ โดยโครงการส่งเสริมการเรียนรู้ฯของยูเนสโกจะเน้นกิจกรรม 5 ด้านหลัก คือ 1.การส่งเสริมการพัฒนาเนื้อหาการเรียนรู้ที่สามารถส่งผ่านโทรศัพท์มือถือที่ ง่ายแก่การอ่าน (easy to read) มีเนื้อหาที่สั้นกะทัดรัด และสามารถส่งผ่านถึงกันในระยะเวลาอันสั้น 2.การพัฒนาเพิ่มทักษะครูเพื่อส่งเสริมการสืบค้นข้อมูล รวมทั้งการเป็นพี่เลี้ยงแก่ผู้เรียนในการสร้างเนื้อหาผ่านระบบดิจิตอล โดยใช้เทคโนโลยีจากแอพ พลิเคชั่นต่างๆ 3.การพัฒนาเทคโนโลยีการสื่อสารในโทรศัพท์มือถือที่เป็นประโยชน์ต่อผู้เรียน และครูในการสร้างและพัฒนาเนื้อหาและการสืบค้นข้อมูล 4.การประเมินผลการเรียนรู้โดยใช้หน่วยความจำของเครื่องมือสื่อสารของผู้ เรียนเทียบเคียงความรู้ที่ผู้ใช้โทรศัพท์มือถือได้รับ และ 5.การกำหนดนโยบายแห่งชาติหรือยุทธศาสตร์การส่งเสริมการเรียนรู้ด้วยโทรศัพท์ มือถือ


          เลขาธิการสภาการศึกษา กล่าวต่อว่า ยูเนสโกได้เล็งเห็นความสำคัญของการส่งเสริมโอกาสในการเรียนรู้ตามปณิธานของ การศึกษาเพื่อปวงชน โดยเฉพาะการส่งเสริมความสามารถของผู้เรียนในการแสวงหาและสร้างความรู้เพื่อ การแบ่งปันซึ่งกันและกัน และเห็นว่าในปัจจุบันวิทยาการของโทรศัพท์มือถือและเครื่องมือดิจิตอลสามารถ นำมาใช้ประโยชน์ในการเรียนรู้ โดยเฉพาะในหมู่วัยรุ่นที่ใช้เวลาส่วนใหญ่อยู่กับข้อมูลทางโทรศัพท์มือถือ การอ่านหนังสือผ่านอีบุ๊ก (e-book) การเก็บภาพและเสียงในคอมพิวเตอร์แท็บเล็ต เป็นต้น หากสามารถคิดรูปแบบการเรียนรู้ผ่านสื่อดิจิตอลดังกล่าว ได้ จะสามารถเข้าถึงผู้เรียนได้ไม่ต่ำกว่า 6 พันล้านคนทั่วโลก โดยเฉพาะในประเทศที่มีการใช้โทรศัพท์มือถือเยอะ เช่น ในทวีปแอฟริกาที่มีผู้ใช้โทรศัพท์มือถือมากที่สุดในโลก

          "จากข้อมูลของยูเนสโก ระบุว่า เดี๋ยวนี้เด็กอายุ 10 ขวบขึ้นไป ผู้ปกครองก็ซื้อโทรศัพท์มือถือให้ลูกแล้ว ฉะนั้น การให้เด็กหรือนักเรียนได้ใช้ประโยชน์จากโทรศัพท์มือถือสำหรับการเรียนรู้จะ ดีกว่าที่เด็กจะใช้เล่นเกม การแชต หรือการใช้ไปกับสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์ จึงอยากให้นักเรียน กลุ่มวัยรุ่นหันมาใช้ข้อมูลทางการศึกษาด้วยโทรศัพท์มือถือ" นายเอนก กล่าว และว่า สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) เห็นด้วยกับการส่งเสริมการเรียนรู้ดังกล่าวและเป็นอีกทางเลือกหนึ่งเพื่อการ เรียนในระบบการศึกษาและนอกระบบการศึกษา ขณะนี้ สกศ.พิจารณาเรื่องนี้เสร็จแล้ว โดยได้ประชุมรับฟังความเห็นมาแล้วและอยู่ระหว่างการนำเสนอที่ประชุมคณะ กรรมการสภาการศึกษา ซึ่งมีรัฐมนตรีว่าการ ศธ.เป็นประธาน อย่างไรก็ตาม การนำโครงการดังกล่าวมาใช้ในระบบการศึกษาของไทย น่าจะใช้ในลักษณะเพื่อเสริมการเรียนการสอนทั้งการศึกษาในระบบ การศึกษาตามอัธยาศัย และการศึกษา ตลอดชีวิต โดยเฉพาะสามารถนำมาส่งเสริมการรู้หนังสือได้ สำหรับงบประมาณที่จะนำมาใช้ในโครงการดังกล่าว ไม่น่าจะเยอะมากนักและทาง ยูเนสโกจะมีงบประมาณสนับสนุนบางส่วน เพราะโครงการนี้ไม่ได้ลงทุนมากเนื่องจากนักเรียนมีโทรศัพท์มือถืออยู่แล้ว เพียงแต่จะต้องมีการพัฒนาแอพพลิเคชั่นมารองรับเท่านั้น

ที่มา: หนังสือพิมพ์มติชน