16 ต.ค. 2555

[ข่าว] - ปัญหาเด็กไทย “ต้องเปิดใจยอมรับข้อมูลใหม่” จึงแก้ได้ก่อนวิกฤติ




UploadImage

การศึกษาแย่ สังคมเสื่อม ปัญหาพ่อแม่เลี้ยงเดี่ยว แม่วัยใส ทำอนาคตเด็กไทยน่าวิตก งานวิจัยแนะเร่งลดช่องว่างเด็ก-ผู้ใหญ่ สร้างครอบครัวอบอุ่น กตัญญูปู่ย่าตายาย ก่อนสังคมวิกฤติ

จากการศึกษารวบรวมข้อมูลเพื่อจัดทำรายงานการพัฒนาเด็กและเยาวชนไทย ปี พ.ศ.2553  ซึ่งสำนักงานส่งเสริมสวัสดิภาพและพิทักษ์เด็ก เยาวชน  ผู้ด้อยโอกาส และผู้สูงอายุ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์  มอบให้สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) โดยทีมวิจัยของจิราภรณ์  แผลงประพันธ์  นักวิจัยอาวุโส ค้นพบว่าสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงสังคมในปัจจุบันทั้งภายในประเทศและกระแสสากลทำให้เด็กเยาวชนต้องเผชิญความท้าทายใหม่ๆอันเป็นอุปสรรคและอันตรายต่อการดำเนินชีวิต มีแนวโน้มปัญหารุนแรงและซับซ้อนมากขึ้น


UploadImage

การวิเคราะห์หาสาเหตุและแนวทางแก้ไขปัญหาต้องอาศัยข้อมูลที่มีความต่อเนื่องทันต่อสถานการณ์  จึงจะสามารถใช้กำหนดนโยบายหรือมาตรการป้องกันแก้ปัญหาเกี่ยวได้ตรงเป้าหมายและเหมาะสม การศึกษานี้เป็นการรวบรวมข้อมูลด้านเด็กครอบคลุมทุกประเด็น ทำให้เห็นภาพรวมสภาวการณ์ตั้งแต่เกิดไปจนถึงวัยเรียนจบมีงานทำ ข้อมูลเกี่ยวกับครอบครัว  สุขภาพกายและสุขภาพจิต การศึกษา การมีงานทำ  การใช้เวลาว่าง  การปกป้องคุ้มครอง สภาเด็กและเยาวชน ตลอดจนงบประมาณพัฒนาเด็กและเยาวชน

และยังได้การวิเคราะห์ข้อมูลย้อนหลัง 5-10 ปีทำให้เห็นแนวโน้มสถานการณ์และปัญหาซึ่งมีข้อน่าห่วงใยหลายประการ  ได้แก่  อัตราเด็กและเยาวชนที่ไม่ได้อยู่กับพ่อแม่สูงขึ้นและกำลังจะเป็นปัญหา  ซึ่งมาจากหลายสาเหตุ  แต่เหตุผลหลักไม่ได้มาจากปัญหาพ่อแม่หย่าร้างดังที่เคยเข้าใจ แต่มาจากปัญหาเศรษฐกิจที่พ่อแม่ต้องไปทำงาน จึงให้ลูกอยู่กับปู่ย่าตายายหรือฝากคนอื่นดูแลแทน  จึงมีปัญหาความอบอุ่นในครอบครัวและช่องว่างการสื่อสารระหว่างวัยของเด็กกับปู่ย่าตายายที่ดูแล  ในขณะที่การเข้าถึงการสื่อสารสมัยใหม่ทั้งโทรศัพท์ คอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ต  ทำให้อาจเกิดการใช้อย่างไม่เหมาะสม  มีพฤติกรรมเลียนแบบหรือคึกคะนอง เด็กจึงอาจจะเติบโตขึ้นมาอย่างไม่มีคุณภาพเท่าที่ควร


การที่ครอบครัวไทยมีแนวโน้มเป็นครอบครัวเดี่ยวมากขึ้น ทำให้เด็กไม่ได้เรียนรู้เรื่องวัฒนธรรมประเพณี ความกตัญญูกตเวทีและการดูแลปู่ย่าตายาย   เช่น  การดูแลเรื่องอาหาร ชีวิตความเป็นอยู่   ป่วยก็พาไปหาหมอ  การที่เด็กไม่เคยเห็นแบบอย่างเหล่านี้จึงเป็นเรื่องน่ากังวลว่าจะไม่สามารถดูแลคนแก่ในสังคมที่จะมีผู้สูงอายุจำนวนมากในอนาคต  สังคมจึงพึงตระหนักและควรรณรงค์สร้างจิตสำนึจิตอาสาในเด็กในการดูแลผู้สูงอายุมากขึ้น เช่น จิตอาสาในโรงพยาบาล  ที่สำคัญไม่ควรปล่อยให้เป็นความเคยชินจนแก้ไขไม่ได้  เพราะปัจจุบันแม้เด็กกล้าพูดกล้าแสดงออกในสิ่งที่ตัวเองคิด แต่กลับมีสัมมาคารวะความเคารพผู้ใหญ่น้อยลง

การศึกษายังพบปัญหาแม่วัยใสมากขึ้นเรื่อยๆ แม้จะมีหลายหน่วยงานเข้ามาช่วยเหลือ แต่อัตราแม่วัยใสก็ยังคงน่าตกใจคือเพิ่มขึ้นถึง 20% ของคนคลอด (อายุต่ำกว่า 19 ปี) และหากเกิดขึ้นในกลุ่มคนระดับล่างที่ไม่มีศักยภาพการดูแลทั้งตัวเองและครอบครัว ก็ไม่อาจหลุดพันจากวังวนเดิมๆเหล่านี้ได้  เช่น ครอบครัวหนึ่งในชุมชนแออัดใจกลางกรุงเทพฯ มีเด็กหญิง ป.3 แต่ยังอ่านเขียนไม่ได้และไม่อยากไปโรงเรียน เด็กคนนี้มียายอายุราว 30 ปีเท่านั้น และทั้งแม่และยายมีการศึกษาระดับพื้นฐาน แต่ด้วยภาวะครอบครัวต้องดิ้นรนจึงไม่มีเวลาสอนการบ้านให้เด็ก  หนทางที่เด็กคนนี้จะหลุดพ้นภาวะความยากจนด้วยการได้รับศึกษาที่ดีจึงเป็นไปได้ยาก

สำหรับเรื่องดีๆที่ค้นพบจากการวิจัยคือ เด็กเข้าถึงการศึกษาดีขึ้นมาก(แต่ไม่เกี่ยวกับคุณภาพ)  และที่ดีที่สุดคือเข้าถึงระบบสาธารณสุข  มีการฝากครรภ์  การดูแล การได้รับวัคซีน  แต่เป็นการเข้าไปดูแลที่ปลายเหตุ และไม่ได้ส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาคนคุณภาพ

การแก้ปัญหาที่ผ่านมาแม้จะมีความพยายามทำกันมาอย่างต่อเนื่อง แต่ปัญหาก็ยังไม่ได้รับการแก้ไขหรือแก้ไม่ตรงจุด ต่างคนต่างทำ จึงควรประสานเครือข่ายและทำร่วมกันในระดับชาติ

ยังมีการศึกษาที่ชี้ให้เห็นสถานการณ์เด็กและเยาวชนระดับจังหวัด โดยจากการศึกษาสถานการณ์ความยากจนในเด็กไทย  ภายใต้สนับสนุนจากองค์การทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ(UNICEF)  เปรียบเทียบข้อมูลปี 2549 กับ 2551 โดยหาว่าการขาดแคลนของเด็กในมิติต่างๆมีความสัมพันธ์กับความยากจนตัวเงินมากน้อยเพียงใด พบว่า มีหลายเรื่องที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการขาดแคลนเงิน เช่น ทารกที่ไม่ได้รับนมแม่(ทารกอายุ 6-11เดือน)ไม่ได้เป็นปัญหาของครัวเรือนที่ยากจน แต่พบในครัวเรือนที่ไม่ได้ยากจน  แนวทางบรรเทาปัญหานี้จึงไม่ใช่การเพิ่มเงินหรือรายได้ให้ครอบครัว แต่เป็นประเด็นอื่นๆ เช่น การจัดสรรเวลาและความสะดวกในการให้นมบุตรของแม่ที่ต้องทำงานนอกบ้าน อาจทำได้โดยการขอความร่วมมือให้สถานประกอบการจัดสถานที่และอุปกรณ์ที่อำนวยความสะดวกสำหรับให้แม่เก็บนมไว้ให้ลูกได้

จากการจัดทำดัชนีความขาดแคลนโดยรวม โดยเลือกเฉพาะตัวชี้วัดที่มีความสัมพันธ์ในทิศทางเดียวกับความยากจนด้านตัวเงิน 17 ตัวชี้วัดใน 8 มิติ และกำหนดเกณฑ์จัดระดับความขาดแคลนของแต่ละตัวชี้วัดในระดับครัวเรือนสำหรับแต่ละมิติเป็น 3 ระดับ คือ ไม่มีปัญหา มีปัญหา และมีปัญหารุนแรง จากนั้นนำความขาดแคลนในต่างมิติมาสรุปรวมพบว่า ความขาดแคลนในเด็กและเยาวชนมีการเปลี่ยนแปลงพอสมควรระหว่างปี 2549 และปี 2551  ภาคตะวันออกเฉียงเหนือเป็นภาคที่มีสัดส่วนของครัวเรือนที่เด็กและเยาวชนมีความขาดแคลนในระดับรุนแรงมากสูงที่สุด  (ร้อยละ 6.67 และ 4.76 ของครัวเรือนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือทั้งหมดในปี 2549 และ 2551 ตามลำดับ)

ผลการศึกษาสะท้อนนัยยะว่าผู้กำหนดนโยบายไม่ควรให้ความสนใจเฉพาะการแก้ไขปัญหาความยากจนทางการเงินเท่านั้น เพราะมีความขาดแคลนขัดสนบางอย่างที่ไม่ได้มีความสัมพันธ์หรือมีความสัมพันธ์ตรงกันข้ามกับความยากจนทางการเงิน  การจัดสรรงบประมาณลงในพื้นที่เช่นในระดับจังหวัดและระดับภูมิภาค ควรคำนึงถึงสถานการณ์ความขาดแคลนที่เป็นปัญหาเฉพาะสำหรับบางพื้นที่ด้วย

………………………..

ปัญหาเด็กและเยาวชนนั้นซับซ้อน หากผู้ใหญ่เข้าใจและยอมรับด้วยข้อมูลที่ถูกต้อง ครบถ้วน ย่อมแก้ไขได้ ที่สำคัญต้องทำให้การลงทุนปีละหลายแสนล้านบาทถูกนำไปใช้เพื่อการศึกษาและพัฒนาเด็กให้มีประสิทธิภาพอย่างแท้จริง.

เขียนโดย สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย
ข้อมูล - สถาบันอิศรา มูลนิธิพัฒนาสื่อมวลชนแห่งประเทศไทย