10 ก.ค. 2555

[ข่าว] - มารู้จักกับ วิศวกรรมปิโตรเลียมว่าคืออะไร




วิศวกรรมปิโตรเลียม คืออะไร??

         วิศวกรปิโตรเลียม คือ วิศวกรผู้ทำงานเกี่ยวกับ การเจาะและการผลิต น้ำมันหรือก๊าชธรรมชาติขึ้นมาจากแหล่งกักเก็บใต้ผิวดิน ลักษณะงานมีทั้งภาคออกแบบ ศึกษา วางแผน และภาคสนาม


วิศวกรรมปิโตรเลียม เรียนอะไรบ้าง??

           หมวดธรณีวิทยา เรียนทางด้านธรณีวิทยาทั่วไป และธรณีวิทยาของแหล่งปิโตรเลียม เพื่อจะได้เข้าใจถึงโครงสร้าง และลักษณะของแหล่งกักเก็บปิโตรเลียมประเภทต่าง ๆ 

           หมวดเจาะหลุม เรียนการออกแบบหลุมปิโตรเลียม วิธีการเจาะ การป้องกันการพลุ่งของปิโตรเลียม การลงอุปกรณ์ที่ใช้ในหลุม และการวิเคราะห์ข้อมูลที่เก็บบันทึกระหว่างหรือหลังการเจาะ

           หมวดการผลิต เรียนอุปกรณ์ต่าง ๆ ที่ใช้ในการผลิต การกระตุ้นการผลิต การผลิตโดยแรงดันธรรมชาติ การช่วยการผลิตเมื่อแรงดันลดลง การคำนวณการไหลของปิโตรเลียมในท่อผลิตและท่อส่ง

           หมวดแหล่งกักเก็บ เรียนรู้ลักษณะและคุณสมบัติต่าง ๆ ของปิโตรเลียมและแหล่งกักเก็บ การไหลของปิโตรเลียมเข้าสู่หลุม การคำนวณปริมาณสำรอง การลดลงของอัตราการผลิต การผลิตขั้นทุติยภูมิโดยการอัดน้ำแทนที่

วิศวกรปิโตรเลียมต่างจากนักปิโตรเคมีอย่างไร 

          ก่อนอื่น ต้องทำความเข้าใจก่อนว่าอุตสาหกรรมปิโตรเลียมเป็นอุตสาหกรรมต่อเนื่อง แบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ upstream กับ downstream สำหรับ upstream นั้น เริ่มตั้งแต่ การสำรวจ การขุดเจาะ และการผลิตปิโตรเลียม ในการสำรวจนั้นจะใช้นักธรณีฟิสิกส์เป็นหลัก ในการเจาะและผลิตปิโตรเลียมนั้นจะใช้วิศวกรปิโตรเลียม เมื่อน้ำมันหรือก๊าซถูกขนส่งมาถึงโรงกลั่นแล้ว ช่วงนี้จะเรียกว่า downstream วิศวกรเคมีจะทำหน้าที่กลั่นปิโตรเลียมออกเป็นองค์ประกอบต่างๆ จากนั้น นักปิโตรเคมีจะนำส่วนประกอบที่ได้จากการกลั่นไปผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ เช่น เม็ดพลาสติก และ PVC เป็นต้น


 หลักสูตรของวิศวกรรมปิโตรเลียมกับปิโตรเคมีต่างกันอย่างไร

          วิศวกรรมปิโตรเลียมจะเน้นหนักไปทาง คณิตศาสตร์และฟิสิกส์ เรียนเคมีน้อยมาก ที่เรียนก็ออกไปทาง physical chemistry เสียส่วนใหญ่ ส่วนทางด้านปิโตรเคมี จะมีเรียนด้านเคมีและเคมีอินทรีย์ เสียส่วนใหญ่


 จบไปแล้วจะมีงานทำไหม

          ที่ผ่านมา 2-3 ปี นิสิตที่จบไปมีงานทำมากกว่า 95% ซึ่งตลาดงานช่วงนี้ยังดีอยู่มาก ยังมีความต้องการวิศวกรปิโตรเลียมอยู่อีก เนื่องจากมีการพัฒนาแหล่งปิโตรเลียมขึ้นมาเรื่อย ๆ อีกทั้งบริษัทน้ำมันหลาย ๆ แห่ง รับคนไทยทดแทนตำแหน่งชาวต่างชาติมากขึ้น อย่างไรก็ตาม ปริมาณงานจะค่อนข้างขึ้นอยู่กับราคาน้ำมัน ถ้าน้ำมันราคาตก ก็จะหางานยากกว่าปกติ


 เอ! แล้วเงินเดือนเท่าไร

          ที่ผ่านมาอยู่ในระดับ 25,000 - 35,000 บาท สำหรับ base salary ถ้าออก field ก็มีเงินพิเศษให้อีก หลายคนบริษัทจองตัวล่วงหน้าถึง 4 เดือนก่อนจบ แถมให้ sign-up bonus อีกนับแสนบาท บางคนได้ทำงานกับบริษัทต่างชาติ ซึ่งส่งไปทำงานต่างประเทศ เงินเดือนก็เกือบ ๆ 2 แสนบาท


 จบวิศวกรรมปิโตรเลียมแล้วไปทำอย่างอื่นได้หรือไม่

          ต้องขอตอบว่า ค่อนข้างยาก เพราะวิศวกรรมปิโตรเลียมเป็นอะไรที่เฉพาะเจาะจง จะนำสิ่งที่เรียนมาไปประยุกต์ใช้กับสาขาอื่นได้ค่อนข้างน้อย


 ถ้าไม่จบวิศวกรรมปิโตรเลียมจะทำงานในอุตสาหกรรมปิโตรเลียมได้หรือไม่

          ตอบว่าได้ แต่จะไม่ได้ดูแลการเจาะ การผลิตปิโตรเลียมโดยตรง อาจมีหน้าที่ในการดูแลงาน operations บางอย่าง หรือการใช้เครื่องมือบางชนิดที่เกี่ยวข้องกับการเจาะและผลิตปิโตรเลียม ผู้ที่อยู่ใกล้ชิดกับอุตสาหกรรมปิโตรเลียมก็มีนักธรณีวิทยา นักธรณีฟิสิกส์ วิศวกรเครื่องกล วิศวกรเคมี วิศวกรไฟฟ้า และวิศวกรสิ่งแวดล้อม


 ผู้หญิงทำงานด้านนี้ได้หรือไม

          ผู้หญิงก็สามารถทำงานใน field นี้ได้เหมือนกัน ไม่มีปัญหา งานบางอย่างผู้หญิงทำได้ดีกว่าผู้ชายเสียอีก อย่างไรก็ตาม จำนวนวิศวกรปิโตรเลียมที่เป็นผู้หญิงมีจำนวนค่อนข้างน้อย


 เมื่อเรียนจบแล้ว ต้องทำงานอยู่บนแท่นเจาะหรือแท่นผลิต เสมอไปหรือไม่

          ส่วนใหญ่วิศวกรปิโตรเลียมจะไม่ได้ทำงานที่แท่นเจาะหรือแท่นผลิต ตลอดเวลา งานส่วนมากจะอยู่ภาคพื้นดินที่บริษัท จะออก site งานบ้างเป็นครั้งคราว มีบางส่วนที่จะต้องออก offshore เป็นประจำ เวลาเดินทางไปแท่น ก็จะไปได้ 2 วิธี คือ นั่งเรือ หรือ นั่งฮอลิคอปเตอร์


 จบแล้วทำงานที่ไหนได้บ้าง

          (1) ราชการ หรือ หน่วยงานในกำกับของรัฐ ได้แก่ กองเชื้อเพลิง กรมทรัพยากรธรณี, กรมพลังงานทหาร, อาจารย์มหาวิทยาลัย
          (2) บริษัทน้ำมัน ได้แก่ ปตท. สำรวจและผลิต, Thai Shell, Unocal, Chevron
          (3) บริษัทเกี่ยวเนื่องกับอุตสาหกรรมน้ำมัน บริษัทจำพวก service companies ได้แก่ Schlumberger, Halliburton, Baker Hugh, BJ Service, Scientific Drilling และอื่น ๆ

วิศวกรรมปิโตรเลียม , สาขาวิศวกรรมปิโตรเลียม , วิศวกรรมปิโตรเลียม คือ , คณะวิศวกรรมปิโตรเลียม , วิศวกรรมปิโตรเลียมมีที่ไหนบ้าง ,     อยากเรียนวิศวกรรมปิโตรเลียม
ที่มา nisit.eng.chula.ac.th