28 ส.ค. 2555

[ข่าว] - 10 ปี คณะไอซีที ศิลปากร ทรรศวรรษแห่งการก้าวกระโดด

 
10 ปี แรกของเด็กเปรียบเสมือนช่วงเวลาของการประคบประหงมเลี้ยงดูให้มีชีวิตรอด

10 ปี แรกของการทำงานถือเป็นเวลาแห่งการเรียนรู้โลกกว้างนอกห้องเรียน

ส่วน 10 ปี ของคณะเทคโนโลยีสารสนเทศ (ไอซีที) มหาวิทยาลัยศิลปากร ถือเป็นทศวรรษแห่งการพัฒนาอย่างก้าวกระโดด

“ผลิตบัณฑิตที่มีความเป็นเลิศทางวิชาการและคุณธรรม” เป็นปรัชญาที่คณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร มหาวิทยาลัยศิลปากร มุ่งมั่นในการผลิตบัณฑิตสู่สังคม
 
นับตั้งแต่การก่อตั้งคณะฯที่วิทยาเขตเพชรบุรี เมื่อปี 2546 ซึ่งเป็นคณะอันดับที่ 13 ใน “มหาวิทยาลัยแห่งศิลปะ” ในช่วงที่ประเทศไทยเห็นความสำคัญเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารซึ่งจะเป็น แกนหลักของสังคมในอนาคต ทางคณะฯจึงได้ออกแบบหลักสูตรที่บูรณาการศาสตร์ทางด้านโปรแกรมมิ่ง เรื่องคอมพิวเตอร์ รวมกับศิลปะการออกแบบเกิดเป็นสาขาวิชาเทคโนโลยีเพื่อการออกแบบ แบ่งวิชาเอกออกเป็น ออกแบบแอนิเมชั่น ออกแบบเว็บและสื่อโต้ตอบ และออกแบบเกมส์

นอกจากนี้ ยังหลอมรวมศาสตร์ทางคอมพิวเตอร์ กับการวางแผนการตลาดทางธุรกิจ เกิดเป็นสาขาวิชาเทคโนโลยีสารสนเทศธุรกิจ ผลิตบัณทิตรุ่นแรกออกมาเมื่อปี 2549 ได้รับผลตอบรับในทางที่ดีจากผู้ประกอบการ ทั้งในด้านการออกแบบ ที่เน้นเรื่องความสวยงามและการใช้งานได้จริง กับทางด้านธุรกิจ ที่ไม่ใช่แค่การขายของเป็น แต่เข้าใจทุกกระบวนการ ตั้งแต่ระบบคอมพิวเตอร์ขององค์กรธุรกิจ ไปจนถึงการติดต่องานกับลูกค้า
 
แม้คณะจะเพิ่งเปิดได้เพียง 4 ปี แต่นักศึกษาก็คว้ารางวัลสุดยอดวิทยานิพนธ์ดีเด่นแห่งปี 2553 ในเทศกาลออกแบบบางกอก 2553 (Bangkok International Design Festival 2010) มาครอง ด้วยผลงานแอนิเมชั่นเรื่อง “เส้นใยที่ถูกลืม” ของนายสิบปนนท์ รอดคำทุย นักศึกษาวิชาเอกแอนิเมชั่นกับความพยายามนำเสนอเรื่องใกล้ตัว ให้สะท้อนมุมมองที่แปลกใหม่
 
คนในวงการคาดการณ์กันว่า อีกไม่ศิษย์เก่าจากไอซีทีคนนี้จะต้องมีชื่อติดอยู่ในทำเนียบสุดยอดแอนิเมชั่นของเอเชีย
 
ปีถัดมา นักศึกษาสาขาวิชาเอกออกแบบเว็บและสื่อโต้ตอบ คือ นายพิสิฐพงษ์ สืบพิลา ได้รับรางวัลชนะเลิศ จากการประกวดเว็บไซต์เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนารถ ในหัวข้อ “ล้นเกล้าฯแผ่นดินไทย” คว้าถ้วยเกียรติยศนายกรัฐมนตรีและเงินรางวัล 100,000 บาท มาครอง
 
นับเป็นก้าวอันแข็งแรงที่แสดงให้เห็นว่าในด้านเทคโนโลยี นักศึกษาไอซีที ไม่เป็นรองใคร
 
ผศ.ชัยชาญ ถาวรเวช คณบดี คณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร มหาวิทยาลัยศิลปากร กล่าวว่า ความตั้งใจของคณะคือการทำให้นักศึกษาได้รับประโยชน์สูงสุด จึงทุ่มเทให้กับการพัฒนาเทคโนโลยี เลือกซื้อเทคโนโลยีที่มีคุณภาพ และสอนนักศึกษาตามที่ตลาดแรงงานต้องการ ด้วยการนำมืออาชีพเข้ามาสอน เพราะเขาสามารถรู้ว่าตลาดต้องการอะไร รวมถึงการที่นักศึกษาชั้นปีที่ 4 ต้องทำจุลนิพนธ์เป็นผลงานชิ้นใหญ่สำหรับจบการศึกษา ซึ่งได้แนวทางมาจากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร แต่แตกต่างตรงที่ คณะนำมืออาชีพมาร่วมตรวจจุลนิพนธ์ เพื่อขัดเกลานักศึกษาเป็นครั้งสุดท้ายก่อนออกสู่ตลาดแรงงาน แนวทางนี้ จึงทำให้ผลิตบัณฑิตที่มีคุณภาพ และมีเปอร์เซ็นต์การได้งานมากกว่า 90 %
 
“การสอนของคณะไอซีทีจะเน้นด้านปฏิบัติมากกว่ามหาวิทยาลัยอื่น เพราะเราเชื่อมั่นตามคำสอนของอาจารย์ศิลป์ พีระศรี ที่เน้นให้ทำงาน นายจ้างจะชอบเด็กไอซีทีมาก เพราะเรามักจะอึด อดทน ไม่น่าเชื่อว่าคณะเราจะพัฒนาแบบก้าวกระโดด ภายในช่วงเวลาแค่ 10 ปี เราขึ้นเป็นอันดับ 1 ในเรื่องแอนิเมชั่น และการออกแบบเว็บและสื่อโต้ตอบ เมื่อปีการศึกษา 2544 คณะไอซีทีก็คว้ารางวัลชนะเลิศในด้าน แอนิเมชั่น ออกแบบเว็บและสื่อโต้ตอบ และนิเทศศาสตร์ กว่า 20 รางวัล ทุกวันนี้คณะเราเป็นที่จับตามองของมหาวิทยาลัยเองและมหาวิทยาลัยอื่นๆด้วย” คณบดีคณะไอซีที ระบุ  
 
ในช่วงเวลาเดียวกันนั้นเอง ปี 2550 ทางคณะฯก็ได้เปิดสาขาวิชานิเทศศาสตร์ ที่ศูนย์ประสานงานบางรัก เพื่อผลิตบัณฑิตเข้าสู่วงการสื่อมวลชน 5 สายวิชาได้แก่ การโฆษณา การลูกค้าสัมพันธ์ วารสารและหนังสือพิมพ์ ภาพยนตร์ และวิทยุและโทรทัศน์ โดยวิชาเอกลูกค้าสัมพันธ์นั้นถือว่าคณะไอซีที เป็นคณะแรกที่เปิดสายวิชานี้ ซึ่งเป็นการหลอมหลวมการสื่อสารการตลาด เข้ากับประชาสัมพันธ์
 
จุดเด่นของหลักสูตรนิเทศศาสตร์ของที่นี่ เป็นการผสาน 3 ขา ระหว่าง องค์ความรู้ทางวิชานิเทศศาสตร์ การใช้เทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ และศิลปะการออกแบบ ซึ่งทุกวันนี้ผลิตบัณฑิตออกมาแล้ว 2 รุ่น
 
แม้จะเป็นน้องใหม่ในการผลิตบัณฑิตด้านสื่อสารมวลชน แต่ก็เป็นคณะวิชาที่สร้างความเชื่อมั่น จนกลายเป็นคณะที่มีอันดับการเลือกแอดมิชชั่นเป็นอันดับที่ 4 ของประเทศ (สาขานิเทศศาสตร์ ปี 2555 ) ก้าวขึ้นจากอันดับ 7 ของประเทศ ที่ครองมา 2 ปีซ้อน (สาขานิเทศศาสตร์ปี 2553-2554)
 
ผลงานการบูรณาการงานทางนิเทศศาสตร์ที่เห็นเด่นชัด นั่นคือ ละครเวที 2 เรื่อง 2 รส  “ล่า ท้า ฝัน” ปี 2009 และ “วิไลเลือกคู่” ปี 2010 ที่ต้องเพิ่มรอบการแสดงเพื่อให้พอกับความต้องการของผู้ชม จนมาถึงเรื่องล่าสุด “A Midsummer Night’s Dream” ฝัน...กลางคืนฤดูร้อน บทประพันธ์คลาสสิคของวิลเลี่ยม เชคสเปียร์ (William Shakespear) ซึ่งฉลองวาระพิเศษ 10 ปีคณะ ที่เพิ่งปิดม่านการแสดงไปเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ท่ามกลางภาพ  แสง สี เสียง อลังการ ที่ใช้มัลติมีเดียมาช่วยสร้างฉากให้อลังการ ขึ้น เพิ่มเติมจากการใช้ฉากเป็นป้ายแบบเดิม ทำให้ดูมีมิติ เหมือนหลุดออกมาจากโลกจินตนาการ และได้คณะเพื่อนบ้านอย่าง         ดุริยางคศาสตร์ มาทำเพลงประกอบให้
 
เสียงจากคนในวงการสื่อสารมวลชนที่น่าสนใจ อาทิ นายนิธิพัฒน์ สมสมาน กับ นายสุภณวิชญ์ สมสมาน กรรมการผู้จัดการและผู้ก่อตั้ง The Monk Studio บอกว่า ที่บริษัทไว้วางใจศิษย์จากรั้วไอซีที ศิลปากร เพราะผลงานดี ยิ่งเมื่อเทียบกับมหาวิทยาลัยอื่นๆแล้ว ไอซีทีถือเป็นแนวหน้า นำหน้ามหาวิทยาลัยอื่นๆอยู่ก้าวหนึ่ง ยิ่งเมื่อบวกกับความขยัน ความอดทน และเห็นงานมาก่อนอันดับแรก ยิ่งทำให้เด็กไอซีทีมีคุณภาพมากขึ้น

ส่วนนายวิชชพัชร์ โกจิ๋ว  ผู้กำกับมือทองจากภาพยนตร์เรื่องดัง ‘แฟนฉัน’ แห่งค่ายหนังยักษ์ใหญ่ จีทีเอช (GTH) ก็กล่าวว่า ในอนาคตคณะไอซีที จะเป็นคณะในฝันของเด็กนิเทศศาสตร์ เพราะทุกวันนี้ คณะเดินมาถูกทางแล้ว ด้วยหลักสูตรภาพยนตร์ที่ค่อนข้างแข็งแรง และนักศึกษาก็มีศักยภาพ

คณะไอซีที ศิลปากร เชื่อมั่นว่า การที่คณะสอนให้นักศึกษาปฏิบัติงานจริงจากคำแนะนำของบุคลากรมืออาชีพ จะช่วยเพิ่มศักยภาพให้นักศึกษามากขึ้น ซึ่งเราพร้อมที่จะบ่มเพราะเด็กไทย ให้มีความรู้ ความสามารถ เพื่อผลิตบัณฑิตออกสู่ตลาดแรงงานอย่างมีคุณภาพ และร่วมพัฒนาประเทศชาติต่อไป

++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++
 
 
เชิญชมนิทรรศการ 10 ปี คณะไอซีที ศิลปากร ฉลองยิ่งใหญ่ 6-9 กันยายน
 
 
 
พบกับงานเฉลิมฉลองครั้งยิ่งใหญ่ วาระพิเศษ 10 ปี คณะไอซีที ศิลปากร ณ หอศิลปวัฒนธรรม กรุงเทพฯ (ตรงข้าม มาบุญครองเซนเตอร์) ระหว่างวันที่ 6- 9 กันยายน ตั้งแต่ 10.00 – 18.00 น. โดย วันที่ 6 กันยายน เวลา 10.00 น. จะเริ่มด้วยการฉายภาพยนตร์ที่ได้รับรางวัลของนักศึกษาสาขาภาพยนตร์
 
บ่ายวันเดียวกัน เสวนา หัวข้อ “Media Transformation การเปลี่ยนโฉมของสื่อ” ได้แก่ คุณนวพล ธำรงรัตนฤทธิ์ ผู้กำกับภาพยนตร์เรื่อง36 คุณสันติ ทับทิมทอง Creative Group Head, The Leo Burnett Group และคุณนิติ ชัยชิตาทร โปรดิวเซอร์รายการเทยเที่ยวไทย (Play Channel) จากนั้นเป็นพิธีเปิดงานเวลา 16.00 น.
 
วันที่ 7 กันยายน ช่วงบ่าย เสวนาหัวข้อ “Smarter Analytics for Smarter Outcomes” โดยคุณสนธยา สธัมมสภา Technology Architect, IBM Thailand Co.,Ltd. ส่วนวันที่ 8 กันยายน ช่วงเช้า ร่วมพุดคุยกันในหัวข้อ “Mobile Internet Segmentation Trend & Technology” โดยคุณศรัญ หวังธรรมมิ่ง, Senior Manager Channel Development and Management Department จากดีแทค และช่วงบ่ายพบวิทยากรผู้เชี่ยวชาญด้านแอนิเมชั่น จาก Yggdrazil Group Co.,Ltd จากผลงานโฆษณา CP OMEGA PLUS
 
ภายในงานยังมีกิจกรรมเวิร์คช้อปของแต่ละสาขา สำหรับผู้ที่มาร่วมงาน 30-45 นาทีต่อรอบ นิทรรศการผลงานนักศึกษาจำนวน 2,000 ชุด และที่พลาดไม่ได้คือ การประกวดคอสเพลย์ช่วงบ่ายวันที่ 9 กันยายน และกิจกรรมแฟนพันธ์แท้ไอซีที ชิง iPad
 
ติดตามความเคลื่อนไหวได้ที่ www.ict.su.ac.th/facebook : ictsilpakorn และสามารถติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ 0-2233-4995 ในวันและเวลาราชการ