นางสาวจุไรรัตน์ แสงบุญนำ
รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ เป็นวิทยากรบรรยาย โครงการอบรมสัมมนา
เพื่อเสริมสร้างความตระหนัก เพื่อเตรียมพร้อมในการก้าวสู่ประชาคมอาเซียน
เมื่อวันพุธที่ ๘ สิงหาคม ๒๕๕๕ ณ ห้อง Meeting Room ๑ ชั้น ๒
โรงแรมตรัง กรุงเทพฯ
การบรรยายพิเศษ
แนวทางดำเนินงานด้านการศึกษาภายใต้กรอบความร่วมมืออาเซียน รู้เขารู้เรา
ศึกษา อัตลักษณ์ วัฒนธรรมของประเทศในอาเซียน
แล้วหันกลับมาพัฒนาประเทศให้ก้าวหน้า ทั้งด้านภาษา เทคโนโลยี และวัฒนธรรม
แต่อยู่ในกรอบของความพอเพียง
๘ สิงหาคม ๒๕๕๕ :นางสาวจุไรรัตน์
แสงบุญนำ รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ เป็นวิทยากรบรรยายพิเศษ
โครงการอบรมสัมมนาเพื่อเสริมสร้างความตระหนักรับรู้
เพื่อเตรียมพร้อมในการก้าวสู่ประชาคมอาเซียน ในหัวข้อ
แนวทางการดำเนินงานด้านการศึกษาภายใต้กรอบความร่วมมืออาเซียน
ซึ่งดำเนินการจัดโดยสถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ ณ โรงแรมตรัง กรุงเทพมหานคร
นางสาวจุไรรัตน์
กล่าวในการบรรยายตอนหนึ่งว่า
แนวทางการดำเนินงานด้านการศึกษาภายใต้กรอบความร่วมมืออาเซียน
ในส่วนของกระทรวงศึกษาธิการ ได้มีการจัดทำแผนด้านการศึกษา (๒๕๕๔ – ๒๕๕๘)
โดยมีเนื้อหาสำคัญคือ ยุทธศาสตร์ที่ ๑
การเสริมสร้างความตระหนักเกี่ยวกับอาเซียน
โดยกำหนดเป้าหมายในในการเสริมสร้างอัตลักษณ์ของอาเซียนด้วยการเสริมสร้าง
ความตระหนักและค่านิยมร่วมในการเป็นประชาชนอาเซียนในสังคมทุกระดับ
ยุทธศาสตร์ที่ ๒ การเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพ
ได้แก่การสร้างโอกาสในการได้รับการศึกษาในระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษา
ให้ความสำคัญกับการศึกษาเพื่อบรรลุเป้าหมายการจัดการศึกษาเพื่อปวงชน
รวมถึงยกระดับมาตรฐานการศึกษา การจัดการศึกษาตลอดชีวิตและการพัฒนาอาชีพ
ยุทธศาสตร์ที่ ๓
การเคลื่อนย้ายข้ามพรมแดนและการจัดการศึกษาให้มีความเป็นสากล
ตอบสนองต่อความต้องการของตลาดแรงงาน และยุทธศาสตร์ที่ ๔
สนับสนุนการดำเนินงานขององค์กรรายสขาอื่น ๆ ในการพัฒนาการศึกษา
เช่นการจัดการด้านความเสี่ยงและภัยพิบัติ
การจัดการศึกษาเพื่อสิทธิมนุษยชนการจัดการศึกษาเพื่อป้องกัน HIV/AIDS
นางสาวจุไรรัตน์
กล่าวอีกว่า นอกจากนี้กระทรวงศึกษาธิการ
ได้กำหนดแนวทางในการเตรียมความพร้อมสู่การเป็นประชาคมอาเซียน ในปี ๒๕๕๘
โดยจะมีแนวทางในการเผยแพร่ความรู้ ข้อมูลข่าวสาร
และสร้างความตระหนักและเจตคติที่ดีเกี่ยวกับอาเซียนให้ครู อาจารย์
และบุคลากรทางการศึกษา นักเรียน นักศึกษา และประชาชนทั่วไป
และพัฒนาศักยภาพนักเรียน นักศึกษา
ประชาชนให้มีทักษะที่เหมาะสมในการเป็นพลเมืองอาเซียน
และสอดคล้องกับการปรับตัว เปลี่ยนแปลงทางอุตสาหกรรม
รวมทั้งการเพิ่มโอกาสในการทำงาน ตลอดจน แนวทางการพัฒนามาตรฐานการศึกษา
เพื่อสร้างการยอมรับในคุณภาพการศึกษา และส่งเสริมการหมุนเวียนของนักเรียน
ครู อาจารย์ในอาเซียน รวมทั้งการพัฒนาระบบการศึกษาทางไกล
เพื่อสนับสนุนการศึกษาตลอดชีวิต
“การเตรียมความพร้อมที่ดีคือการศึกษาอัตลักษณ์
วัฒนธรรมของประเทศอาเซียนทั้ง ๙
ประเทศว่าแต่ละประเทศให้ความสำคัญและมุ่งเน้นพัฒนาในเรื่องอะไรบ้าง เช่น
ประเทศบรูไน ให้ความสำคัญกับเทคโนโลยีสารสนเทศ
กัมพูชาให้ความสำคัญกับการปฏิรูปการศึกษา
อินโดนีเซียมีการพัฒนาการศึกษาโดยใช้ระบบ e- learning
ซึ่งถือว่าเป็นคู่แข่งที่น่ากลัว เป็นต้น
หลังจากนั้นเราหันมามองประเทศของเราว่าเป็นอย่างไร
จะต้องพัฒนาด้านการศึกษาอย่างไรถึงจะเท่าทันหรือก้าวหน้ากว่าประเทศอาเซียน
ด้วยกัน ทั้งด้านการเป็นพลเมืองดี ดำเนินชีวิตตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง
มีความภาคภูมิใจในความเป็นไทย รักษาอัตลักษณ์ มรดกวัฒนธรรมของชาติ
ตลอดจนเรื่องภาษาของประเทศเพื่อนบ้านซึ่งถือว่าสำคัญในการติดต่อสื่อสาร
ในการเจรจาและทำความร่วมมือด้านการศึกษา การค้าในอนาคตต่อไป”
รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการกล่าวในที่สุด