ศธ.เร่งปรับแผนการผลิตกำลังคนสายอาชีพรองรับอาเซียนหลังพบตัวเลข ความต้องการแรงงานในอุตสาหกรรมเด่นมากกว่ากำลังผลิตจริงถึงเกือบ 4 เท่า เฉพาะอุตสาหกรรมยานยนต์ต้องการ 5 แสนคนภายใน ปี 58 แต่ยังผลิตได้แค่1.5 แสนคน ระบุรวมก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงคาดขาดแคลนแรงงานนับล้าน
น.ส.ศศิธารา พิชัยชาญณรงค์ ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยว่า ศธ.ได้ทำแผนกำลังคนรองรับการขยายการลงทุนในประเภทอุตสาหกรรมที่ประเทศไทยมี ความโดดเด่น พร้อมทำแผนกำลังคนรองรับการขยายการคมนาคมทางบก โดยเฉพาะการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงเพื่อการเชื่อมต่อภายในประเทศและเชื่อม ต่อกับประเทศในประชาคมอาเซียนโดยในส่วน ศธ.รับผิดชอบการเตรียมกำลังคนในระบบสถานศึกษา กำลังเร่งมือสำรวจและจัดทำแผนกำลังคนตั้งแต่ระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.)ประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวช.) ปริญญาตรีระยะ 10 ปี (2555-2565) ในสาขาหลัก 3 สาขาที่เกี่ยวกับการขยายการลงทุนและการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงโดยตรง ได้แก่ สาขายานยนต์และชิ้นส่วน, สาขาไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์ และสาขาช่างก่อสร้าง/ช่างสำรวจ
ทั้งนี้ ข้อมูลจากสภาอุตสาหกรรม พบว่า ในระยะ 5 ปี (2554-2558) อุตสาหกรรมหลักทั้ง 3 ประเภทนั้น ต้องการแรงงานสูงกว่ากำลังคนที่ผลิต3-4 เท่า ขณะที่อุตสาหกรรมชิ้นส่วนและยานยนต์ต้องการแรงงานในระยะ 5 ปี ประมาณ 500,000 คนแต่สามารถผลิตกำลังคนได้แค่ประมาณ 150,000 คนส่วนอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ต้องการกำลังคนประมาณ 400,000 คน แต่ผลิตได้ 100,000 กว่าคนส่วนช่างก่อสร้าง/ช่างสำรวจ ต้องการกำลังคน300,000 คน ผลิตได้ประมาณเกือบ 100,000 คนรวมทั้งหมดแล้ว ต้องการแรงงานประมาณ 1.2 ล้านคน ผลิตได้เพียงเกือบ 400,000 คน ซึ่งหากรวมแรงงาน เพื่อรองรับการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูง จะขาด แคลนแรงงานนับล้านคน
"ขณะที่สภาอุตสาหกรรมและกระทรวงแรงงานก็มีการประมาณการณ์ว่า ภายในปี 2558 จะมีความต้องการแรงงานในภาพรวมตั้งแต่ระดับมัธยมต้นถึงปริญญาโทเพิ่มอีก 1.2 ล้านคน เพราะฉะนั้น ศธ. จะต้องนำข้อมูลดังกล่าวมาปรับการผลิตกำลังสายอาชีพวิศวกร และสาขาอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องเพื่อตอบโจทย์เหล่านี้ให้ได้ เพื่อให้การเข้าสู่ประชาคมอาเซียนไม่เกิดปัญหาด้านกำลังคน" ปลัด ศธ. กล่าว
ที่มา: หนังสือพิมพ์ASTVผู้จัดการรายวัน