ประธานบอร์ด สทศ. เผยผลทดสอบเด็กไทยเทียบเด็กในกลุ่มอาเซียน ชี้เก่งด้านการแสดงความคิดเห็นแต่ไม่มีหลักหรือไม่มีสาระ แนะหาก สทศ.จะมีบทบาทต่อการพัฒนาคุณภาพและมาตรฐานการศึกษาสู่สากล ต้องมี พ.ร.บ.การทดสอบและประเมินผลทางการศึกษาแห่งชาติ เครื่องมือที่จะสร้างความยั่งยืนให้กับการทดสอบและการบริหารการทดสอบ
ศ.ดร.สมหวัง พิธิยานุวัฒน์ ประธานคณะกรรมการสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.) ปาฐกถาพิเศษเรื่อง "บทบาท สทศ.ต่อการพัฒนาคุณภาพการศึกษาสู่ระดับสากล" ในงานประชุมวิชาการประจำปี 2555 "7 ปี สทศ.พัฒนาการศึกษาสู่สากล" จัดโดย สทศ.เมื่อเร็วๆ นี้ ตอนหนึ่งว่า ขณะนี้ความสามารถเด็กไทยเมื่อเทียบกับเด็กในกลุ่มอาเซียนหรือเอเชียจากการ ทดสอบของสถาบันต่างๆ พบว่า ภาษาอังกฤษ มีคะแนนโทเฟล อยู่อันดับที่ 75 จาก 120 ประเทศ คะแนนเฉลี่ย 547 ซึ่งอยู่ระดับกลางๆ แต่สื่อสารไม่ค่อยได้ ต้องมีการพัฒนาต่อไป ด้านการอ่าน เฉลี่ย 421 คะแนน ก็ต้องทบทวน
ด้านวิทยาศาสตร์ ดูจากคะแนนที่จัดสอบโดย PISA ปี 2009 พบว่า ได้เฉลี่ย 425 คะแนน ความรู้และความสามารถอยู่ในระดับต่ำ และไม่แสดงว่าจะมีแนวโน้มสูงขึ้นในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา ส่วนด้านคณิตศาสตร์ ได้ 419 คะแนน ซึ่งต่ำกว่าค่าเฉลี่ยอย่างต่อเนื่องหลายครั้ง และในรอบ 6 ปีที่ผ่านมา ไม่แสดงว่ามีพัฒนาการที่ดีขึ้น ขณะที่คะแนนเฉลี่ยพลเมืองและพลโลกศึกษา ได้ 452 คะแนนหรือระดับปานกลาง ส่วนการแสดงออก การวิพากษ์อยู่ระดับดี แสดงให้เห็นว่า เก่งด้านการแสดงความคิดเห็นแต่ไม่มีหลักหรือไม่มีสาระ ซึ่งทำให้รู้สึกเป็นห่วงประชาธิปไตยในประเทศไทย
ศ.ดร.สมหวัง กล่าวต่อว่า ไทยมีการทดสอบระดับชาติ ตั้งแต่ปี พ.ศ.2478 แต่ยกเลิกปี พ.ศ.2517 มีผลสมบูรณ์ปี พ.ศ.2521 เพราะข้อสอบระดับชาติไม่ได้ออกโดยผู้สอน เด็กสอบตกมากและมีการกระจายอำนาจการวัดผลให้สถานศึกษา โดยหวังว่าครูจะนำผลการทดสอบไปใช้ปรับปรุงการเรียนการสอน ทำให้ตั้งแต่ปี พ.ศ.2521 ไม่มีการรักษาคุณภาพและมาตรฐานการศึกษาของชาติ และนำแนวคิดการเลื่อนชั้นอัตโนมัติ คนที่สอบตกให้วิธีการซ่อมเสริม จึงทำให้คุณภาพเด็กลดลง ดังนั้น ควรต้องทบทวนแนวคิดเลื่อนชั้นอัตโนมัติ และนำการทดสอบระดับชาติกลับมาใช้อย่างจริงจัง แนวทางการนำการทดสอบระดับชาติมาใช้ มีแนวโน้มที่ดีขึ้น โดยเริ่มจากปี พ.ศ.2551 ได้มีความพยายามที่จะให้การทดสอบระดับชาติมีผลต่อการสำเร็จชั้น ม.3 และ ม.6 โดยให้น้ำหนัก 30-50% โดยพิจารณาร่วมกับผลการทดสอบของสถานศึกษา จนถึงขณะนี้ ศ.ดร.สุชาติ ธาดาธำรงเวช รมว.ศึกษาธิการ ให้เริ่มใช้ 20% ก็ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี แต่ สทศ.ก็คาดหวังว่าจะเพิ่มน้ำหนักให้ได้ถึง 50% ในอนาคต อย่างไรก็ตาม หาก สทศ.จะมีบทบาทต่อการพัฒนาคุณภาพและมาตรฐานการศึกษาสู่สากล มีความจำเป็นต้องมี พ.ร.บ.การทดสอบและประเมินผลทางการศึกษาแห่งชาติ เพื่อเป็นเครื่องมือที่จะสร้างความยั่งยืนให้กับการทดสอบ
ขอขอบคุณข่าวสารดีๆจากทาง: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ