นายประเสริฐ บุญเรือง เลขาธิการสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) เปิดเผยว่าจากการเข้าชี้แจงเหตุผลความจำเป็นในการแก้ไขกฎกระทรวง ว่าด้วยการแบ่งระดับและการเทียบระดับการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย ต่อคณะกรรมการกฤษฎีกา คณะที่ 8 เนื่องจากเดิมเป็นการเทียบทีละระดับ แต่เมื่อรัฐบาลมีนโยบายยกระดับการศึกษาประชาชน ให้จบระดับม.6 ภายใน 8 เดือน อย่างมีคุณภาพ สำนักงาน กศน.จึงเสนอแก้กฎกระทรวงดังกล่าวให้สามารถดำเนินการเทียบแบบข้ามระดับซึ่ง ผู้มีพื้นความรู้ ระดับชั้น ป.6 สามารถเทียบข้ามไปสู่ระดับ ม.ปลาย (ม.6) ได้โดยไม่ต้องผ่านการเทียบระดับ ม.ต้น โดยประชาชนที่จะเข้าสู่โครงการนี้ต้องมีอายุ 20 ปีขึ้นไป มีองค์ความรู้ และมีอาชีพที่เลี้ยงชีพตนเองและครอบครัวได้ ไม่น้อยกว่า 3 ปีโดยมีหลักการสำคัญที่มุ่งเน้นให้คนที่มีงานทำมีอาชีพอยู่แล้ว มาประเมินวัดความรู้เพื่อรับวุฒิ ม.ปลาย ขณะที่การศึกษาปกติมีหลักการในการจัดการศึกษาเพื่อนำวุฒิการศึกษามาใช้ในการ สมัครงาน
นายประเสริฐ กล่าวต่อไปว่า คณะกรรมการกฤษฎีกาทุกท่าน เห็นด้วยในหลักการขยายโอกาสการศึกษาแก่ประชาชน แต่มีความห่วงใยเกี่ยวกับมาตรฐานการศึกษาของการเทียบแบบข้ามระดับ จึงเสนอให้กศน.เพิ่มเติมข้อความที่กำหนดเกี่ยวกับการควบคุมมาตรฐานการศึกษา ไว้ดัวย ดังนี้"ในการประเมินเทียบระดับการศึกษาดังกล่าว หน่วยงานกลางทางการศึกษา และหน่วยงานต้นสังกัด และสถานศึกษาจะต้องจัดทำมาตรฐานการเรียนรู้ระดับการศึกษา เครื่องมือวัดผลและประเมินผลตามมาตรฐานการเรียนรู้ระดับการศึกษา ไม่ต่ำกว่ามาตรฐานการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนปลายหรือเทียบเท่า"
ทั้งนี้ คาดว่าร่างกฎกระทรวงที่แก้ไขจะนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.)พิจารณาภายในกลางเดือน ต.ค.55 และหาก ครม.ผ่านกฎหมายดังกล่าว ก็จะประกาศเดินหน้าเปิดตัวโครงการอย่างเป็นทางการได้ทันที
ที่มา: หนังสือพิมพ์สยามรัฐ